“เศรษฐพงค์” รับหนังสือ จากภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุฯ
ค้านการประมูลคลื่นวิทยุ ! “เศรษฐพงค์” รับหนังสือ จากภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุฯ ทั่วประเทศ จี้รัฐหยุดลิดรอนสิทธิ และปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ
นายเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย พร้อมด้วยนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา ในฐานะตัวแทนพรรคภูมิใจไทย รับหนังสือร้องเรียนจาก ตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศ เป็นคำสั่งทางปกครองจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2564
โดยองค์การภาคีเครือข่ายฯ พร้อมสถานีวิทยุทั่วประเทศ ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้าน กสทช. ขององค์กร มติ กสทช. ครั้งที่ 18 และร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับประชาชน ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงต้องหยุดออกอากาศที่กำลังส่ง 500 วัตต์ โดยต้องลดกำลังส่งลงเหลือเพียง 100 วัตต์ อันเป็นการลิดรอนสิทธิ และปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ เพราะกำลังส่งดังกล่าว ไม่สามารถประกอบเป็นธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 จนถึง 2567 ประเด็นนี้ องค์กรภาคีเครือข่ายฯ พร้อมสถานีวิทยุทั่วประเทศ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองทั่วประเทศ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกประกาศคำสั่งดังกล่าว เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างรอผลการพิจารณา
แต่การแก้ปัญหาด้วยการฟ้องศาลปกครองนั้นเป็นเพียงเพื่อการประวิงเวลาให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สามารถดำเนินกิจการไปได้ถึงปี พ.ศ. 2567 เท่านั้น เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับปี พ.ศ. 2553 ระบุได้ว่า วิทยุประเภทธุรกิจ จะต้องคัดเลือกด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น การประมูลจึงเหมาะกับการทำธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้สื่อวิทยุไปตกอยู่กับกลุ่มนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ขาดความเป็นธรรม และเป็นการทำให้วิทยุท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับ SME พัฒนาสังคม ความมั่นคงของชาติ รวมถึงการสืบสานรักษาประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะท้องถิ่น ภาษาถิ่น และรวมถึงการส่งเสริมเด็ก และเยาวชน ศิลปินพื้นบ้านให้มีเวทีที่ได้แสดงออกโดยออกอากาศอย่างเสรีจะขาดหายไป เนื่องจากสถานีวิทยุผ่านประมูลเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูง จำเป็นจะต้องมีโฆษณา และจำเป็นที่จะต้องคัดสรรรายการที่มีมาตรฐาน มีต้นทุนในการผลิตสูงค่าโฆษณาจึงสูง ค่าเช่าเวลาจึงสูง ถือว่าเป็นการปิดโอกาสของเด็ก และเยาวชนรวมถึงความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้
ทั้งนี้ เพื่อการแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ และผู้ประกอบกิจการวิทยุ FM ทั่วประเทศ ทางองค์กรภาคีเครือข่ายฯ, มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการ กสทช. มีช่องทางเปิดโอกาสให้วิทยุท้องถิ่นอยู่ในระบบ FM ได้โดยไม่ต้องประมูล ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงระดับชาติ ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสถานีทีวีดิจิทัล ก็ควรไปอยู่ที่ระบบของวิทยุดิจิทัล ส่วนผู้ประกอบกิจการวิทยุท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม หรืออาจมีเพิ่มเติมในอนาคตก็ให้อยู่ในระบบของสถานีวิทยุกระจายเสียงแบบคลื่น FM โดยไม่ต้องประมูล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news