นายกฯกำชับดูแล ราคาสินค้าเพื่อการบริโภคเพื่อช่วยเหลือประชาชน ขณะนี้สินค้าเริ่มทยอยปรับราคาลง อาทิ ผักชนิดต่าง ๆ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีราคาสินค้าเพื่อการบริโภคหลายรายการปรับราคาแพงขึ้น เช่น ผักชนิดต่าง ๆ เนื้อสุกรและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการประกอบกัน ทั้งพื้นที่ทำการเกษตรหลายแห่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ค่าต้นทุนการผลิตและค่าต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น การปรับราคาขึ้นตามราคาตลาดโลก และความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเปิดประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนทุกคนที่อาจได้รับผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นนี้ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ ราคาสินค้าบางรายการเริ่มปรับราคาลดลงแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีปริมาณผักเริ่มเข้าสู่ตลาดกลางมากขึ้นกว่าในช่วงก่อนหน้าถึง 20-30% ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง ส่งผลให้ราคาผักทยอยปรับตัวลดลง รวมทั้ง พื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาอุทกภัยมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และยังมีพื้นที่การเกษตรส่วนอื่นๆที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ยังสามารถจำหน่ายสินค้าการเกษตรให้แก่พ่อค้าแม่ค้านำไปจำหน่ายต่อได้ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าสถานการณ์ราคาสินค้าเพื่อการบริโภคจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องปริมาณและราคา รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนิน โครงการโมบายพาณิชย์ ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot 13 (สินค้าผัก) ควบคู่กันไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เพื่อจำหน่ายผัก 17 ชนิดในราคาส่ง และสินค้าที่จำเป็นอีก 4 ชนิด ได้แก่
1.ข้าวหอมมะลิ จำหน่ายถุงละ 5 กิโลกรัม ในราคาถุงละ 120 บาท
2.ไข่ไก่เบอร์ 2 จำหน่ายในราคาแผงละ 80 บาท
3.น้ำมันปาล์มขวด จำหน่ายขวดละ 48 บาท
4.น้ำตาลทรายขาว จำหน่ายกิโลกรัมละ 18 บาท
ผ่านรถโมบายทั้ง 50 คัน ให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายรถโมบายพาณิชย์ในแต่ละวันได้ที่เว็บไซต์ของ กรมการคลัง
รัฐบาลปลื้มดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องขานรับนโยบายเปิดประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยองค์ประกอบของดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหะการ นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เน้นสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ใน 37 จังหวัดด้วย พร้อมทั้งกำชับให้ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่กำลังเดินหน้า
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news