ศบค.พบกทม.และปริมณฑลติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง
ศบค.พบ กทม.ปริมณฑล ติดเชื้อลดต่อเนื่อง ยังมี 13 จังหวัด 3 กลุ่มต้อง จับตาใกล้ชิด เชียงใหม่ แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19หรือ ศบค. กล่าวว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครวันนี้พบ 734 ราย คิดเป็น 13% ซึ่งแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงและคงที่ ด้านจังหวัดปริมณฑลผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจนวันนี้พบ 439 รายคิดเป็น 8%
ซึ่งบางจังหวัดพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจำนวน 13 จังหวัดแบ่งเป็น สามกลุ่ม คือ 1.พบผู้ติดเชื้อ 100 รายต่อวัน และมีผลตรวจ ATK มากกว่า5% มี 5 จังหวัด อาทิ จังหวัดสงขลา, ตรัง, กระบี่, สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช 2.พบติดเชื้อน้อยกว่า 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK น้อยกว่า 5% มี 3 จังหวัด อาทิ จังหวัดขอนแก่น, สระแก้วและนครราชสีมา และ3.ผู้ติดเชื้อ 50-100 คนต่อวัน มี 5 จังหวัด อาทิ จังหวัดสระบุรี, อุบลราชธานี, อุดรธานี, กาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์
ส่วนจังหวัดที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 8% มี 5 จังหวัด โดยมี 1 จังหวัดรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายต่อวัน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และพบติดเชื้อน้อยกว่า 100 รายต่อวันแต่พบต่อเนื่อง 4 จังหวัด อาทิจังหวัดเชียงราย, ลำพูน, พิษณุโลกและสิงห์บุรี จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงพบผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่องและยังต้องเข้มงวดมาตรการโดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล
โดยมีการพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการแบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 49 ราย, ปราจีนบุรี 9 รายและลำพูน 14 ราย, คลัสเตอร์ตลาด แบ่งเป็น พะเยา 8 ราย,ขอนแก่น 7 ราย, จันทบุรี 4 รายและอุดรธานี 2 ราย, คลัสเตอร์แคมป์คนงาน แบ่งเป็น ลำพูน 6 ราย, กรุงเทพมหานคร 5 รายและสงขลา 2 ราย และคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษาแบ่งเป็น อุบลราชธานี 11 ราย, สระแก้ว 8 ราย, แม่ฮ่องสอน 7 รายและสุราษฎร์ธานี 4 ราย ส่วนกรณีพบติดเชื้อในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีการรายงานเป็นระยะในขณะนี้ ขอเน้นย้ำเรื่องมาตรการหลังการสอบสวนโรค ว่า ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน ควรปิดเป็นชั้นเรียนหรือเป็นห้องเรียนตามการสอบสวนโรค
ซึ่งแพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ยังกล่าวอีกว่าจากการรายงานการติดเชื้อแยกตามคลัสเตอร์ทุกครั้งจะพบการติดเชื้อในกิจการเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน, แคมป์ก่อสร้าง หรือ ตลาดซึ่งการทำกิจการเหล่านี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจัยหลักอยู่ที่แรงงาน ซึ่งมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นจะพบว่ามีความต้องการแรงงานมากขึ้นและมีการลักลอบแรงงานนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งที่ประชุม ศบค. 12 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีมติรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเข้ามาอย่างถูกกฎหมายเพื่อที่คนไทยมีความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดเนื่องจากแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง รวมถึงแรงงานต่างด้าวได้รับการดูแลสุขภาพตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งมี 7 ขั้นตอน จำเป็นต้องมีการหารือและประชุมกับทุกหน่วยงาน ซึ่งศบค.ชุดเล็กมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะและมีประเด็นห่วงใยและพูดคุยอย่างต่อเนื่องเช่นหากมีรายงานต่างด้าวเข้ามาในด่านต่อวันปริมาณมากได้มีการจัดเตรียมสถานที่กักตัวในพื้นที่เพียงพอหรือไม่และมีการรองรับอย่างไรแค่ไหน
รวมถึงเรื่องการได้รับวัคซีนจากประเทศต้นทางว่าได้ครบสองเข็มถ้ามีการกักตัวเจ็ดวันหากไม่ครบจะมีการกักตัว 14 วันและมีการตรวจ RT-PCR เมื่อกักตัวที่ประเทศไทยทั้งหมดมีการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเจ้าของกิจการ ซึ่งขณะนี้มีนายจ้างยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการจำนวนมากแล้ว โดยหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อที่กรมการจัดหางาน สายด่วนศูนย์มิตรไมตรี 1694 หรือสายด่วน 1506 กด 2
อย่างไรก็ตาม 7 ขั้นตอนจะมีการพูดคุยและประชุมติดตามนำเข้าเป็นข้อมูลสำคัญในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันศุกร์นี้ ขอให้ติดตามรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งวันศุกร์นี้จะมีการประเมินสถานการณ์มาตรการ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาว่าผ่อนคลายการดำเนินนโยบายตั้งแต่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาจะมีการผ่อนคลายได้มากขึ้น, การปรับพื้นที่สีมาตรการต่างๆ, การรายงานความก้าวหน้า, การรับแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติเข้ามาในประเทศ และเรื่องมาตรการกิจการสถานบันเทิง ซึ่งขอให้ติดตามมติและผลสรุปจากที่ประชุมศุกร์นี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news