“วิษณุ” ชี้กฏหมายสมัยคสช.บางฉบับยังใช้ได้
“วิษณุ” ชี้กฎหมายสมัยคสช.บางฉบับยังใช้ได้ เปิดช่องประชาชน อยากรื้อให้เสนอแก้ไขได้ ตามขั้นตอน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มมวลชนเชิญชวนประชาชน” รวมพลังประชาชนหรือมรดกคสช.” เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในวันที่ 30 พ.ย.ที่รัฐสภา ว่า ไม่ทราบเรื่อง ส่วนที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิประชาชนที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นั้น ก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อตามจำนวน เพื่อเสนอแก้กฎหมายได้
ส่วนมีประกาศ คำสั่งคสช.หรือกฎหมายที่ต้องทบทวนอย่างไรบ้าง นายวิษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบว่าทบทวนหมายถึงกฎหมายฉบับใด และจะทบทวนอะไร กฎหมายบางฉบับก็ถือว่าจำเป็นบางฉบับแก้บางมาตราเข้าไป อยู่ในกฎหมายใหญ่ เมื่อแก้ไปแล้วจะไปดึงออกมาไม่ได้ เพราะจะกระทบไปหมดทั้งฉบับ ถ้าจะพูดถึงฉบับไหนก็พูดขึ้นมา และดำเนินการไป ในช่วงสมัยคสช.ปี 2557- 2562 มีการออกกฎหมายหลายฉบับ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อระยะเวลานานหลายปีก็มีหลายฉบับ และหลายฉบับยังใช้ได้ดีจนถึงขณะนี้ แต่บางฉบับอาจไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ไข เช่น กฎหมายที่เสนอโดยสภาฯในยุคระบอบประชาธิปไตย แต่ต่อมาอีก 1-2ปี ก็ต้องแก้เพื่อให้ทันสมัย กฎหมายบางฉบับออกมาสมัยคสช.เป็นพระราชบัญญัติ ก็มีการเสนอแก้ ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
แก้ครั้งสุดท้ายปี 2558 และตนก็ไปเสนอขอแก้ไขเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องธรรมดา และที่แก้ไม่ได้หมายความว่าของเก่าไม่ดี แต่ไม่ทันสมัย ก็ต้องทำให้ทันสมัยขึ้น สมกับยุควิถีใหม่ เป็นธรรมดาที่ที่กฎหมายเมื่ออยู่ไปยุคหนึ่งอาจล้าสมัย มีปัญหาในการตีความ เวลาออกกฎหมายดูเหมือนเข้าใจวัตถุประสงค์ดีแต่พอไปถึงศาล ศาลแปลเจตนาไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไปเปลี่ยนศาลไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องเปลี่ยนกฎหมายเพื่อดึงศาลให้แปลเจตนาตามที่เราต้องการ เรื่องนี้ในระบบประชาธิปไตย หรือระบอบอื่น ไม่ยากอะไร ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวให้แก้ไขกฎหมายได้ แต่จะได้แก้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯพิจารณา
“วิษณุ”จับสลาก อบต.เป็นไปตามกฎหมาย ชี้ สนามท้องถิ่นคึกคักเพราะอั้น มา8 ปี อาจตื่นเต้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้วิธีจับฉลากกรณีผู้สมัครเลือกตั้งอบต. มีผลคะแนนเสียงเท่ากัน ว่า เป็นไปตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ว่าให้ใช้วิธีการจับฉลาก และที่ผ่านมามีการใช้วิธีนี้มาหลายครั้งแล้ว เพราะการเลือกตั้งอบต. ไม่เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ อาจมีประชากรเข้าไปเกี่ยวข้องไม่มาคะแนนก็อาจเกิดโอกาสเท่ากันได้ ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันดุเดือด และมีการร้องเรียนในหลายพื้นที่ นายวิษณุ ระบุว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกว่าดุเดือด แต่อาจดุเดือดจริง เพราะว่างเว้นกันมา 7-8 ปี คงตื่นเต้นกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องร้องเรียนเรื่องการซื้อเสียง นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นธรรมดาส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานด้านกฎหมายตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มแอมเนสตี้ที่ออกมาต่อต้านเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ใครตรวจสอบ ไม่ทราบเรื่องคงเป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคง
“วิษณุ”ชี้ปัญหาวงการสงฆ์ ไม่บานปลาย ชี้ คนเกี่ยวข้องต้องช่วยกัน แจง พศ. รู้หน้าที่ต้องทำอะไร
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาต่างๆในวงการพระพุทธศาสนา ว่า ทางสำนักพระพุทธศาสนา หรือ พศ.รู้หน้าที่ว่าจะต้องทำอะไร เรื่องในวงการศาสนาไม่เหมือนราชการ ส่วนของศาสนา แม้พศ.จะมีบทบาทและหน้าที่ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพระ เป็นเรื่องของประชาชน ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และตนไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตบานปลายอะไร เพราะเรื่องก็เกิดขึ้นเป็นแบบนี้อยู่ทุกยุค ทุกสมัย เพียงแต่บางครั้งอาจจะใหญ่โตครึกโครม บางครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ต้องไปตื่นเต้นตกใจอะไร
ส่วนมั่นใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ จะไม่บานปลายใหญ่โตใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีอะไร ส่วนพศ. จะต้องเข้ามาสะสางปัญหาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พศ. อาจจะเคลียร์ได้ไม่หมด บางอย่างเกี่ยวกับใครผู้นั้นก็ต้องเคลียร์ เช่น เรื่องของมหาเถรสมาคม หรือ มส. ทาง พศ. จะไปทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเพียงฝ่ายเลขาฯ เท่านั้น บางทีมีการประชุมก็ไม่ได้ให้พศ. เข้าร่วมด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news