“อนุทิน” นำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ
“อนุทิน” นำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ที่ สวิสฯ สานต่อนโยบายนายกรัฐมนตรี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 29 พ.ย-1ธ.ค.64 แม้จะมีกรณีการพบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมคอนในแอฟริกาใต้ เนื่องจากเห็นว่าการประชุมนี้มีขึ้นเพื่อเริ่มต้นพิจารณาการจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประชาคมโลก ในการร่วมกันป้องกัน ตรวจจับและตอบโต้โรคระบาดระดับโลก ไม่จำกัดเฉพาะ โควิด-19 ซึ่งระหว่างการประชุมผู้จัดประชุมดำเนินมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 เมื่อเดือนพ.ค. 64 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วม มีสมาชิก WHO รวม 25 ประเทศ ที่เรียกว่า “Group of Friends of the Treaty” ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เสนอให้มีการจัดการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาการจัดทำสนธิสัญญา (Treaty)หรืออนุสัญญา(Convention) หรือข้อตกลง (agreement) หรือ ตราสารระหว่างประเทศประเภทอื่น (international instrument) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และให้มีการจัดตั้งกระบวนการเพื่อร่างและหารือเครื่องมือดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่นั้นเกินขอบเขตของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR 2005) ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน
จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ที่มีสาระสำคัญกว้างขวางมากกว่าเดิม เพื่อให้ประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัส2019 (โควิด-19) หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเด็นของความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงศักยภาพในการผลิตยา และเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน การคลังด้านสุขภาพที่เพียงพอต่อการให้บริการต่างๆ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการรับมือต่อการระบาดใหญ่ การปฏิบัติตาม IHR (2005) การแลกเปลี่ยนตัวอย่างเชื้อและข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่าย การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. จะเป็นข้อตัดสินใจ(Decision) ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือและต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า Intergovernmental Negotiating Body (INB) ให้เป็นกลไกการหารือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดการจัดทำข้อผูกพันต่างๆ ข้อกำหนดการทำงาน ตลอดจนระยะเวลาการทำงานของ INB โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถนำเสนอผลการทำงานของ INB ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ สมัยที่ 76 ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นการยกระดับกฎเกณฑ์สำหรับการตอบสนองต่อโรคระบาดขึ้นไปเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาคมโลกสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news