“อนุทิน” ขอทั่วโลก เดินหน้าใช้กฎหมาย กำจัดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข
“อนุทิน” ขอทั่วโลก เดินหน้าใช้กฎหมาย กำจัดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ชี้ เป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพ จัดการวิกฤติโรคระบาด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม ที่ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส(ช้ากว่าประเทศไทย 6 ชม.) ในวันดังกล่าว นายอนุทิน ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม เพื่อแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุน การจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
โดยระบุว่า โควิด 19 โจมตีโลกอย่างไม่มีการแบ่งแยก รุกคืบแบบไม่มีเขตชายแดน และไม่สนใจระบบการเมือง ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั้งร่ำรวย และยากจน ทั้งชาติพัฒนา และกำลังพัฒนา จำเป็นต้องมีความรู้และเทคโนโลยี ในการต่อสู้กับวิกฤตินี้ และต้องแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ เพื่อช่วยกันสู้โรค
การที่ประเทศแอฟริกาใต้ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด 19 ที่กลายพันธุ์ ถือเป็นแบบอย่างของการแบ่งปันข้อมูลที่ดีเยี่ยม ในอนาคต เราจะมีความรู้เกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์นี้มากขึ้น โดยที่เราไม่ได้รับผลสะเทือนในระบบสังคมและเศรษฐกิจมากนัก กับประเทศไทย มีตัวอย่างของการค้นพบที่สนใจคือ การใช้วัคซีนป้องกันโควิด 19 จากประเทศจีน ตามด้วยการใช้วัคซีน mRNA จากสหรัฐฯ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็ม เราได้เริ่มดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ด้วยการทำงานหนัก และมิได้คำนึงถึงประเด็นเรื่องการเมือง
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ของเราเคยกล่าวไว้ว่า การทำลายอะตอมได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยสิ้นเชิง ยกเว้นความสามารถในการคิดของเรา เราจำเป็นต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา หากมนุษย์อยากจะมีชีวิตรอด
การระบาดใหญ่ของ COVID เรายิ่งจำเป็นต้องคิดกันใหม่ เพื่อหาทางออกจากวิกฤติ แนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ การใช้กฎหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของโลกทั้งใบในการช่วยเหลือกันและกันเอาชนะโรคร้าย การสร้างระบบที่เท่าเทียม เป็นสิ่งจำเป็น เราจำเป็นต้องมีช่องทางหารือเพื่อช่วยเหลือระหว่างชาติต่างๆ
ประเทศไทย ขอขอบคุณ ผอ.องค์การอนามัยโลก สำหรับความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และผลักดันให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น นี่คือช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และความสามัคคีให้เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกัน ถึงเวลาที่เราจะได้ตัดสินใจ และเริ่มต้น การเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องโลก ให้สามารถดำรงอยู่ไปจนถึงคนรุ่นต่อไป
ฝ การประชุมครั้งนี้ นายอนุทิน นอกจากเข้าร่วมประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภาวะโรคระบาด เพื่อจัดทำสัญญาความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดแล้ว ยังใช้โอกาสนี้ เข้าหารือทวิภาคีกับ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO Director-General) เพื่อสะท้อนความพยายามของไทย ในการเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ร่วมใน BioHub System หลังจากที่ไทย เป็นสมาชิก ในโครงการนำร่องทำการทบทวนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความมั่นคงทางสุขภาพด้านการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง (Universal Health Preparedness and Response, UHPR)
และยังมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Programme on HIV/AIDS-UNAIDS) เกี่ยวกับกรณี ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานโครงการ โรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board : PCB) ในปี 2565 ที่ประเทศไทยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง HIV อย่างครอบคลุม นอกจากนั้น ยังต้องหารือทวิภาคีกับอดีตประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news