ครม.เห็นชอบเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมมรดกโลก
ครม.เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 คาดช่วยโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียด แผนงานและกิจกรรม และประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเสนอครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก โดยคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย
สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ดังนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ๆ เช่น การจัดอบรมให้กับผู้จัดการแหล่งมรดกโลกหรือการอบรมให้ความรู้ในการดำเนินงานในด้านการอนุรักษ์
นอกจากนี้? ยังมีผลต่อด้านเศรษฐกิจ โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ จะเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งที่ 40-43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป
ครม.เห็นชอบขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบe-Payment หนุนนายจ้างใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นและลูกจ้างได้รับความคุ้มครอง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์? (e-Payment) พ.ศ.? … ออกไปอีก 7 วันทำการ นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงแรงงานฯ ฉบับนี้ จะมาทดแทนประกาศฉบับเดิมที่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 และสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งประกาศฉบับเดิมนั้นได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องหักค่าจ้างของผู้ประกันตนและให้ถือว่าผู้ประกันตนทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบและให้นายจ้างนำเงินสมทบทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างส่งแก่สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้พร้อมยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา(ชุดที่13) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 ได้เห็นว่าเพื่อส่งเสริมและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครอง และสนับสนุนให้นายจ้างทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ออกไปอีก 7 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ และนำเสนอต่อ ครม. และประกาศมีผลบังคับสำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนที่ประกาศมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 24 เดือนต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews