Home
|
ข่าว

“ปริญญ์” ย้ำเสนอภาครัฐยกเลิก จัดเก็บภาษีคริปโต

Featured Image
“ปริญญ์” ย้ำเสนอภาครัฐยกเลิก ‘จัดเก็บภาษีคริปโต’ คืนความเป็นธรรม

 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเสนอแนะภาครัฐ กรณีกฎหมายการจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเจตนาของภาครัฐว่าต้องการส่งเสริมหรือสกัดกั้นสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยกันแน่ โดยการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องนำกำไรส่วนต่างจากการถือ ครองหรือการโอน นำไปคิดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไรที่ได้ กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก โดยเฉพาะการคำนวณต้นทุน และการหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่สามารถทำได้จริง

จึงได้เสนอให้รัฐบาล “ยกเลิกการจัดเก็บภาษีคริปโต” พร้อมเหตุผล 3 ข้อ ที่ได้เดินหน้าผลักดันมาตลอดหลายปีตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561  และได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ยืนยันจะเดินหน้าเข้าพูดคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ การยกเว้นการจัดเก็บ ซึ่งการยกเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นอำนาจรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีคลังก็นำเสนอ ครม. ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำก่อนจะเกิดผลกระทบเสียหายมากไปกว่านี้ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ

 

1.การยกเลิกจัดเก็บภาษีคริปโท จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนในตลาด
2. ป้องกันคนเก่งสมองไหล และช่วยสนับสนุน GDP ประเทศ
3. กฎหมายต้องมีไว้เพื่อการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อควบคุมและลงโทษคนทำผิด

 

นอกจากเรื่อง กฎหมายภาษีคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว “ปริญญ์’ ยังได้กล่าวถึงกรณีสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังจะเข้ามาควบคุมตลาด NFT ว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” เนื่องจาก NFT ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าที่จะมาออกกฎหมายกำกับในขณะที่ตลาดยังไม่เติบโต เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นนวัตกรรม

ดังนั้น ภาครัฐไม่ควรที่จะทำตัวเป็นคุณพ่อแสนรู้ มันไม่เหมาะสมที่จะทำตัวเป็นนักกฎหมายยุคเก่า คิดแต่จะออกกฎหมายมาควบคุม มากจนเกินควร คุณต้องเปิดให้นวัตกรรมมันเติบโตไปก่อน เพราะยังไงกฎหมายก็ไม่มีทางตามทันอยู่แล้ว

จึงต้องปล่อยให้ตลาดเติบโตได้เต็มที่ก่อน ภาครัฐค่อยเข้ามาควบคุมในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่การตัดสินใจกระโดดเข้ามากำกับควบคุมอย่างฉับพลัน เพียงเพราะเห็นว่าเกิดกระแสความนิยมในเทคโนโลยีนั้นๆ  อย่างมาก ซึ่งการทำแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในอดีต  ยุคของ ICO ปี 2561 ที่กำลังเติบโต เอกชนเริ่มจะสนใจระดมทุนด้วยแนวทางนี้ ขณะนั้นภาครัฐก็ได้เร่งออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ที่สุดแล้วตลาดการระดมทุนแบบ ICO ก็ชะงักลง สตาร์ทอัพหันไประดมทุนในต่างประเทศแทน

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube