“ประภัตร” ย้ำรัฐบาลห่วงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ช่วยเหลือเต็มที่ เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ หอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในระยะที่ผ่านมานั้น หลัก ๆ แล้ว เป็นค่าชดเชยเพื่อทำลายสุกรแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการ กรมปศุสัตว์จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่เพื่อประเมินค่าความเสียหายและค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรทุกราย สำหรับกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางราย ได้มีการทำลายสุกรไปแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไม่ได้สั่งนั้น ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จะขอรับเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าจะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง พร้อมยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องการระบาดของโรค AFS นี้ แต่การออกมาพูดนั้น จะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้ เมื่อมีการตรวจยืนยันว่า พบเชื้อที่ฟาร์มใด กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการ และจะต้องมีการพักคอกแล้วหยุดเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการตรวจสอบหรือประเมินความเสี่ยงแล้วว่ามีความปลอดภัย จึงจะสามารถลงเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และคณะกรรมการพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ก็ตาม แต่จะช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพคู่ขนานอื่นให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ส่วนของการแก้ไขเนื้อสุกรมีราคาแพง ซึ่งจากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์ พบว่า ในปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ปัจจุบัน (ข้อมูลสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565) มีจำนวนลูกสุกรเข้าเลี้ยงยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ยังได้เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย จึงเชื่อมั่นว่า จากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และระยะยาวนั้น จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้แน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews