“วิษณุ” ระบุ เป็นสมาชิก-กก.บห. ควบ 2 พรรคไม่ได้
“วิษณุ” ระบุ เป็นสมาชิก-กก.บห. ควบ 2 พรรคไม่ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข้อสังเกตที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.วิชท์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจะมีตำแหน่งอยู่ในพรรคการเมืองใหม่ที่กลุ่ม 21 ส.ส.สังกัดสามารถทำได้หรือไม่ ว่า ถ้ามีชื่อเป็นสมาชิก 2 พรรคการเมืองไม่ได้ และเป็นกรรมการบริหารพรรค 2 พรรคการเมืองไม่ได้เช่นกัน แต่ถ้าชื่อหนึ่งไม่ใช่สมาชิก และไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค อาจจะซ้อนกันได้ ไม่แปลก เหมือนคนเก่งไปเป็นที่ปรึกษาให้กับที่อื่นๆ ส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค
อีกทั้งยังกล่าวถึงปัญหาในขณะนี้ เหมือนกับที่นายวิษณุ เคยระบุว่า สนิมเกิดแต่เนื้อในตน แสดงว่าปัญหาเกิดจากภายใน ว่า เรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยบอกว่า นายวิษณุ ไม่ใช่ช่าง ไม่ได้เป็นวิศวกร แต่ตนเป็นวิศวกร รู้ว่าเวลาเกิดสนิม ต้องเอาอะไรฉีดเข้าไป เดี๋ยวก็ออกหมด หรือต้องเอากระดาษทรายขัด
ซึ่งเวลานี้ต้องใช้อะไรฉีด นายวิษณุ ระบุสั้นๆว่า ต้องเอาไบก้อนมั้ง เอาไว้ไล่แมลงสาบ
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ 21 ส.ส. หากส.ส.ที่ถูกขับจะขอกลับมาอยู่สังกัดพรรคเดิม สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในแง่กฎหมายทำได้ เพราะกฎหมายบอกให้ส.ส. หาพรรคการเมืองให้ได้ภายใน 30 วัน ดังนั้นจะไปหาพรรคไหนก็เรื่องของคุณ จะไปหาพรรคใหม่ ที่ยังไม่มี ส.ส.เลย ก็ทำได้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนกรณีที่พรรคการเมืองมีมติขับส.ส ออกไป พรรคดังกล่าวต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้รับรอง ซึ่งต้องรอให้เสร็จสิ้นขั้นตอนก่อน และกรอบเวลา 30 วัน คือ นับตั้งแต่พรรคดังกล่าวมีมติขับส.ส. ออกไป
หากพบว่าองค์ประกอบในการออกมติขับไม่สมบูรณ์ จะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากเป็นอย่างนั้นเท่ากับว่า ไม่ได้มีมตินั้นออกมา และในอดีตก็เคยมี ส.ส. ที่ถูกขับออกแต่เจ้าตัวไม่ยินยอม ก็สามารถไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเคยมีคนยื่นร้องจนชนะแล้ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้เหมือนฝ่ายที่ต้องการจะขับออก และฝ่ายที่อยากจะไป พอพรรคนั้นมีมติขับต่างก็ร้องไชโย ไม่มีอะไรที่จะประท้วง
ซึ่งบางฝ่ายมีข้อสงสัยว่า กรณีที่พรรคการเมืองจะมีมติขับส.ส.ออกจำเป็นต้องแจ้งนัดหมายล่วงหน้าก่อนเรียกประชุมหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า เป็นเรื่องข้อบังคับของแต่ละพรรค ตนไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร และกฎหมายไม่ได้บอก
หากส.ส. ที่ถูกพรรคขับออกไม่พอใจสามารถร้องยุบพรรคเก่าได้หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ส.ส. ที่ไม่พอใจต่อมติดังกล่าวสามารถร้องคัดค้านมติต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ไม่สามารถร้องยุบพรรค แต่กรณีนี้ดูจะยินดีทั้งฝ่ายขับ และฝ่ายถูกขับ จึงไม่มีประเด็นอะไร แต่หากกลับไปพรรคเก่าอีกจะเป็นประเด็น ทั้งนี้ หากมี ส.ส. ไม่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจริง การนับเวลา 30 วันให้สังกัดใหม่ ต้องระงับไว้ก่อน
ส่วนส.ส. ที่ถูกขับออก จะกลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แปลก การเมืองกลับกันไปมาได้เสมอ และในอดีตเคยมีมาแล้ว ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งขณะนี้จะมีการปรับ ครม. หรือไม่ นายวิษณุระบุว่า ไม่ทราบ
ทั้งนี้เป็นห่วงหรือไม่ ที่เสียงส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเริ่มปริ่มน้ำ จากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับส.ส. 21 คน นายวิษณุ ระบุว่า ยังไม่เห็นว่าปริ่มน้ำ คำนี้เคยพูดเมื่อตอน 2 ปี ที่แล้วตอนจัดตั้งรัฐบาล และต่อมาก็พบว่าไม่ปริ่ม และอยู่ได้เรื่อยมาถึงวันนี้ ซึ่งจะต้องหักออกไป 19 คน อันนี้เป็นการเมืองเรื่องตัวเลข ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องไปคิดกันเอง ย้ำว่าเวลานี้ยังไม่เห็นว่ามีเสียงปริ่มน้ำ
สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เลื่อนจากวันอังคารที่ 25 ม.ค.มาเป็นวันจันทร์ ที่ 24 ม.ค.นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าที่ประชุม ครม.ในวันนั้นหรือไม่ ว่า คิดว่าจะนำเข้าครม.ในวันดังกล่าว และเมื่อส่งสภาแล้ว จะเป็นการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณา
โดยตนได้ประสานงานกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เอาไว้ก่อนหน้านี้ และนายชวน รับปากว่าจะรีบบรรจุวาระนี้ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพราะมี 3 ร่าง คือ ร่างของรัฐบาล ของพรรคร่วมรัฐบาล และของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะนำเข้าพิจารณาในคราวเดียวกันทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาของแต่ละฉบับไม่ตรงกัน และสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ล่าช้าคือ การนัดหมายประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งตนคิดว่าการพิจารณาวาระที่ 1 น่าจะพิจารณาในวันเดียว
ส่วนนายกรัฐมนตรี ได้ปรึกษาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี และยังไม่ได้มาหารือเรื่องกฎหมายลูก ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าว ตนจะรายงานในที่ประชุมรับทราบ
ซึ่งการประชุมครม. ในวันที่24 ม.ค.นี้ จะกลับมาเป็นแบบองค์ประชุมเต็มคณะ แสดงว่ารัฐบาลหมดความกังวลโควิด-19 แล้วหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ใช่ไม่กังวล แต่เคยหารือเมื่อประชุมครั้งที่แล้วว่า การประชุมครม. ครั้งต่อไปน่าจะกลับมาสู่รูปแบบปกติได้ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถามหลายครั้ง ว่าเมื่อใดจะกลับมาประชุมที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเอาทีละขั้นตอน ให้กลับมาประชุมที่ตึกสันติไมตรีก่อน
ด้านไทม์ไลน์การออกกฎหมายลูก ตอนนี้ยังเป็นไปตามเดิมที่จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนก.ค.นี้ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า วางเวลาไว้เต็มที่แบบนั้น แต่หากทำได้เร็วกว่านั้นได้เป็นเรื่องดี ส่วนในสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นต้องเร่งทำกฎหมายให้เร็วขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะยอมใครหรือไม่ ตนเคยบอกแล้วว่ากฎหมายลูก 2 ฉบับ มี 3 แบบ เนื้อหาไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือกกต. จะยอมให้แก้ร่างกฎหมายของเขาหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็ต้องส่งกันไปมา และจะมีขั้นตอนอีกยาว
นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนหลังจากทำร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ต้องขึ้นทูลเกล้าฯมีกรอบเวลาอีก 90 วัน ซึ่งเราไม่สามารถไปคาดเดาได้ จึงให้นับให้เต็ม 90 วัน คือไปถึงเดือน ก.ค.ทั้งนี้เรื่องการพิจารณาดังกล่าวยังเกี่ยวไปถึงวุฒิสภา เพราะต้องมาร่วมลงมติในการประชุมร่วมรัฐสภา จึงมีสิ่งที่เป็นห่วงอยู่คือกฎหมายลูกฉบับเก่า ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และสนช.เวลานั้นมาเป็นส.ว. ตอนนี้ จึงอาจจะยังหวงของเดิม ไม่อยากให้ไปแก้ตรงนั้นก็ได้ แต่ต้องอยู่ที่มติของรัฐสภา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews