“ชลน่าน” รับหนังสือตัวแทนเครือข่าย 14 สถาบัน
“ชลน่าน” รับหนังสือตัวแทนเครือข่าย 14 สถาบัน เสนอแนวทางการออกประกาศกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา
นายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.สกุณา สาระนันท์ และนายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รับยื่นหนังสือจากนายฐิติ ชิวชรัตน์ ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายสภานิสิต นักศึกษา และเครือข่าย 14 สถาบัน เพื่อเสนอแนะแนวทางการออกประกาศ หรือกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้
1. ขอให้ทบทวนมาตรการในการลดค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐและในกำกับของรัฐให้เป็นอย่างน้อยร้อยละ 20 และในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยได้ ขอให้ลดค่าเทอมเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 และขอให้พิจารณามาตรการในการลดค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มเติม โดยขอให้มีการพิจารณาโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนในภาคปีการศึกษา 2564
เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนิสิตและนักศึกษา เนื่องจากนิสิตและนักศึกษาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทั้งจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์ และจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงมากขึ้น และขอให้มีการขยายเวลาการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาจนกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะหมดลง
2. ขอให้จัดมาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมให้แก่นิสิตและนักศึกษา เช่น เร่งฉีดวัคซีนสำหรับนิสิตและนักศึกษาที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับนิสิตและนักศึกษาที่ได้รับวัคชีนครบโดสมามากกว่า 16 สัปดาห์ขึ้นไป สนับสนุนชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (Antigen Test Kit) ให้แก่นิสิตและนักศึกษาเพื่อทำการตรวจก่อนใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งเปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยบางส่วนให้นิสิตและนักศึกษาใช้เรียนและจัดกิจกรรมโดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
3. ขอให้จัดให้มีสัปดาห์พักผ่อน (Relax Week) ในปฏิทินการศึกษา โดยจัดทั้งสิ้น 2 ครั้งต่อภาคการศึกษาในช่วงก่อนการสอบกลางภาคครั้งหนึ่ง และก่อนการสอบปลายภาคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นิสิตและนักศึกษาได้มีสัปดาห์ว่าง สำหรับการผ่อนคลายจากภาระการเรียน และทบทวนบทเรียนก่อนการสอบ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต้องดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนิสิตและนักศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยต้องมีนักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 คนต่อนิสิตและนักศึกษา 1,500 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมตามงานวิจัยด้านจิตวิทยา
อย่างไรก็ตาม นายชลน่าน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่ารัฐบาลควรพิจารณาในประเด็นที่นักศึกษาได้เสนอ เนื่องจากนักศึกษาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาผ่านกลไกของคณะ กมธ. โดยจะเชิญให้ตัวแทนนักศึกษามาให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การดำเนินแก้ไขต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews