Home
|
ข่าว

นายกฯพอใจภาพรวมศก.มีสัญญาณฟื้นตัวดี

Featured Image
นายกฯพอใจภาพรวมเศรษฐกิจ มีสัญญาณฟื้นตัวดี ให้ความสำคัญนโยบายทางเศรษฐกิจการคลังที่เหมาะสม

 

 

 

 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2564 และ 2565 ที่รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ถึง 1.4) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ในปี 2565 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศมีผลกระทบในวงจำกัด ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานด้วยว่า บทบาทของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาในปี 2564 เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวอันเนื่องมาจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น และการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.4) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 ถึง 3.9) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 18.7 ถึง 19.2)

 

 

 

ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับในปี 2565 นั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงส่งสัญญาณที่ดี จะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไปโดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการคลังที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับตา ติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ อันจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพการคงกรอบอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube