Home
|
ข่าว

“ยุทธพงศ์”มองนายกฯ ขยายสัมปทานสายสีเขียวไม่โปร่งใส

Featured Image
“ยุทธพงศ์” เผย “ประยุทธ์” ทิ้งทวนโปรเจ็กต์ใหญ่ ขยายสัมปทานสายสีเขียว มูลค่า 4 แสนล้าน มองไม่โปร่งใส ระบุมีตัวละครสำคัญเจรจา

 

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแลพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการทิ้งทวนโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ 4 แสนล้าน โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 ก.พ.นี้ จะมีวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

โดยจะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 40 ปีให้กับบีทีเอส เพื่อให้ ครม.อนุมัติในช่วงที่กำลังชุลมุน เรื่องนี้มีความผิดปกติมากเพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือน พ.ค. ซึ่งเรื่องใหญ่ขนาดนี้ผูกพันอนาคตคน กทม. ออกไปอีก 40 ปีข้างหน้า ทำไมจึงไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาตัดสินใจ

 

นายยุทธพงศ์ ระบุว่า สำหรับความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 40 ปีนั้น ในเส้นทางหลักของบีทีเอสจะหมดสัญญาปี 2572 แล้วจะรีบต่อสัญญาทำไม ขณะที่ กทม.จะขยายสัญญาสัมปทานโดยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ของ รฟม. โดย กทม.ควรชำระหนี้ให้รฟม.เรียบร้อยก่อน เพราะส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. ทาง กทม.ยังไม่ได้รับโอน

 

หาก กทม.จะยกส่วนนี้ไปให้บีทีเอสก็ผิดกฎหมายชัด และหาก กทม.บอกว่าตัวเองเป็นหนี้เพราะเปิดให้นั่งฟรีตั้งแต่ปี 60 ไม่อยากให้บริการส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้แล้ว ก็ควรเสนอครม.ให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 และให้ รฟม.ไปดำเนินการเองเพราะเป็นเจ้าของ การจะโอนกรรมสิทธิ์มาโดยไม่จ่ายเงินจะทำได้หรือ และหากบีทีเอสอยากต่อสัญญาในเส้นทางหลัก ต้องแจ้งกทม.ไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินห้าปี ซึ่งแจ้งได้ตั้งแต่ช่วงปี 68 แต่ตอนนี้เพิ่งปี 65 ยังไม่ถึงเวลาที่บีทีเอสต้องแจ้งต่อสัญญาสัมปทาน

 

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ที่ กทม.บอกมีภาระหนี้จากการจ้างเอกชนมาติดตั้งระบบการเดินรถ และว่าจ้างให้เอกชนวิ่งรถในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ซึ่งทำตั้งแต่ปี 59 ควรตรวจสอบว่าสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หนี้ถูกกฎหมายหรือไม่เพราะไม่มีการประกวดราคา ยกให้บีทีเอสวิ่งรถเลย

 

เรื่องอะไรที่ผู้ว่าฯ กทม.ไปสร้างหนี้ขึ้นมาเป็นหมื่นล้าน แล้วปล่อยให้ประชาชนนั่งฟรี ตนจึงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อให้ครม.ต่อขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ ตนมองว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์ก้อนใหญ่โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายสัมปทานให้บีทีเอสตั้งแต่ปี 2572 ไปจบที่ปี 2602

 

กรณีนี้ต้องมีการศึกษาว่าถ้าให้เอกชนดำเนินการ หรือเอากลับมาเป็นของรัฐดำเนินการเอง ตัวเลขกำไรขาดทุนแบบไหนดีกว่ากัน แบบไหนประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์มากกว่ากัน มีตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมไปศึกษามา พบว่าหาก กทม.ดำเนินการเองหลังหมดปี 72 ไม่ต่อให้บีทีเอส ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ 4.67 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนดำเนินการจะมีกระแสเงินสดสุทธิแค่ 3.26 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐดำเนินการเองมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่าถึง 4.35 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้นายยุทธพงศ์ ระบุว่า มีตัวละครสำคัญที่ไปเจรจาสายสีเขียว คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือดร.เอ้ โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 มีคำสั่ง คสช.ที่3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีนายสุชัชวีร์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จากนั้นวันที่ 5 มิ.ย.62 มีการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นชอบให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่คนค้าน ถามนายสุชัชวีร์สนิทกับใคร ถ้าไปขึ้นรถไฟฟ้าทุกสถานีก็จะมีรูปโฆษณานายสุชัชวีร์ทุกสถานีรวม 450 ป้าย แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่หรือไม่ จ่ายเงินกันหรือไม่ เอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็จะเกี่ยวพันกันกับบัญชีทรัพย์สินของนายสุชัชวีร์

 

ดังนั้นในวันที่ 8 ก.พ.นี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นชอบให้ผ่านสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปีหรือไม่ เพราะนายสุชัชวีร์เป็นตัวแทนสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แล้วทำไมพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องทิ้งทวนโครงการต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีกในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

หากต่อสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 65 บาทผูกพันไปถึง 40 ปีข้างหน้า และต้องถามหาจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยที่คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะผิดกฎหมายหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำค่าโดยสารแพงเกินจริง เป็นการผูกขาดตัดตอนเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว โดยที่ไม่มีการแข่งขัน

 

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงเหตุการณ์การประชุมสภาฯ ล่ม ว่า เหตุผลที่สำคัญ คือ ส.ส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 20 คน ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ทำให้การประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาล่ม ซึ่งเป็นครั้งที่ 16 ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นปัญหาล่มซ้ำซาก น่าอับอาย

นายยุทธพงศ์ ระบุว่า ปัจจุบันมี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 473 คน องค์ประชุมต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 238 เสียง ขณะที่ส.ส.พรรครัฐบาลมี 245 เสียง เกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 5 เสียง และในจำนวนส.ส.พรรครัฐบาล พบว่ามีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีหลายคน ทำให้เหตุการณ์ประชุมสภาล่มเกิดขึ้นได้ง่าย หากนับองค์ประชุมเมื่อใด การประชุมล่มเมื่อนั้นเพราะองค์ประชุมไม่ครบตั้งแต่ต้น อีกทั้งส.ส.ในกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย

 

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมี 2 ทาง คือ ปรับคณะรัฐมนตรี ช่วงปิดสมัยประชุม 1 มี.ค.- 21 พ.ค.65 แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะไม่ทำ ดังนั้นจะเข้าสู่ทางเลือกที่2 คือ การยุบสภาก่อนเปิดสมัยประชุม วันที่ 22 พ.ค.ที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถยุบสภาได้

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube