สมาคมสิทธิเสรภาพประชาชนยื่นข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ชี้จำเป็นต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตำรวจกับประชาชนใหม่
นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และคณะ เพื่อยื่นข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยส่วนใหญ่และสื่อมวลชนทุกแขนงต่างเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาดำเนินการการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ครั้งใหญ่ให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ โดยการตรา พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่จะเป็นการจุดประกายความหวังที่จะได้เห็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและเกิดความเป็นธรรมภายในวงการตำรวจกันเอง ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาตินั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหยิบยกข้อเสนอของประชาชนที่ผ่านการศึกษากลั่นกรองจากการหารือถกเถียงกันมาหลายสิบเวที ให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนระเบียบวิธีการปฏิบัติของตำรวจแบบเดิม เพื่อนำมาบังคับใช้ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาคเท่าเทียม โดยในรอบระยะเวลาตั้งแต่มีกฎหมายตำรวจปี 2547 จนถึงปัจจุบัน องค์กรตำรวจยังไม่สามารถ ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาของสังคมได้
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตำรวจกับประชาชนใหม่ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินไป จัดระบบให้ดีขึ้น ใช้ดุลพินิจให้น้อยลง ให้มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล และให้ประชาชนในทุกระดับมีส่วนร่วม เพื่อให้กฎหมายฉบับใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจ เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้านทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้จัดให้มีการศึกษา และประชุมสัมมนาทางวิชาการเมื่อวัน ที่ 24 มี.ค. 64 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาหลายภาคส่วน ซึ่งมีข้อสรุปและข้อเสนอ อาทิ กระจายอำนาจความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งชาติ (สตช.)ไปสู่ระดับจังหวัด การลดชั้นบังคับบัญชาในโรงพักให้น้อยลง เพื่อให้ตำรวจหันมาให้ความสำคัญกับประชาชน
และเกิดความคล่องตัวในการทำงาน การยกเลิกตำรวจติดตามที่รับใช้นายตำรวจบางประเภทโดยไม่จำเป็น การตรวจสอบประเมินผลการทำงานในการให้บริการของตำรวจโดยคณะกรรมการจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ การประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บพยานหลักฐานทางอาญา เพื่อให้ทุกองค์กรมีการถ่วงดุลและร่วมกันรับผิดชอบ การกำหนดบทลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาที่ชัดเจนต่อการกระทำของตำรวจระหว่างการสืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริงด้วยวิธีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา การข่มขู่ คุกคาม ผู้ต้องหาและญาติ รวมถึงการยุบกองบัญชาการทั้ง 9 ภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นในระบบการบังคับบัญชาของตำรวจและประหยัดงบประมาณ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews