สภาเตรียมอภิปรายทั่วไป ม.152ต่อวันที่ 2
สภาเตรียมอภิปรายทั่วไปต่อวันที่ 2 หลังวานนี้ พุ่งโจมตีของแพง รัฐมนตรีสลับขึ้นชี้แจงในช่วงดึก “สุพัฒนพงษ์” ยันน้ำมันไม่ใช่แพงเฉพาะในไทย ขณะ “สุชาติ” รับขึ้นค่าแรงต้องฟังไตรภาคี
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี วันสุดท้าย จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. หลังวันแรกอภิปรายจนถึงเวลา 00.49 น. และสั่งปิดการประชุม โดยสมาชิกฯ อภิปรายให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
1.รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวจนก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว ยุทธศาสตร์ชาติไม่มีความคืบหน้า
2. รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางที่ผิดสั่งปิดเหมืองทองอัคราจนทำให้ประเทศถูกฟ้องร้องได้รับความเสียหาย
3. รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดด้านเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ค่าแรงถูก จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เกิดปรากฎการณ์ข้าวของแพงจนพังทั้งแผ่นดิน
4.รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของโรค ทั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19 ) ในคน และโรคเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ระบาดในสัตว์
ทั้งนี้ ในช่วงค่ำวานนี้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างตอบชี้แจงทุกข้อสงสัยที่สมาชิกอภิปราย โดยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง แม้ว่าจะพบเชื้อโรค ASF ในหมู แต่รัฐบาลก็เร่งดำเนินการ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยืนยันไม่ใช่เพราะโรค ASF ที่ทำให้หมูตาย หมูขาดตลาด แล้วทำให้เนื้อหมูราคาแพง เพราะปริมาณหมูอยู่ครบ และในวันนี้ทุกคนยอมรับแล้วว่า เกิดจากความผิดพลาดจากกลไกทางการตลาด นับว่าเป็นการบิดเบือนกลไกทางการตลาด
โดยรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้แต่ตนเอง ก็ไม่เคยได้ประโยชน์จากพ่อค้าหมูแต่อย่างใด ทุกฝ่ายมุ่งมั่นทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนอย่างเต็มความสามารถ
ขณะนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงถึงกรณีน้ำมันแพงทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลว่า
กรณีราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นขณะนี้ เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ถือเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร และคงต้องหาทางประคับประคอง คาดว่าราคาไม่น่าจะแพงไปกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อีกทั้งคงไม่ก่อให้เกิดภาระประชาชน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อแก้ไขวิกฤติโควิด-19
แต่ได้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายตลอดเวลา ทั้งนี้ รัฐบาลมีการปรับโครงสร้างหนี้ตลอดเวลา บางรายการมีการชำระหนี้ก่อนกำหนด รวมทั้งมีการให้เอกชนเข้ามาลงทุนกับรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ยอดหนี้ที่เกิดขึ้นแบบกระโดดสูงแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่จะเกิดจากกรณีที่มีวิกฤติเท่านั้น
ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีปัญหาค่าแรงถูกว่ายอมรับว่า
การพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องฟังความคิดเห็นจากไตรภาคี ซึ่งการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2565 นี้ จะมีการประชุมในเดือนกรกฎาคม โดยให้ไตรภาคีจังหวัดทำข้อสรุปส่งขึ้นมายังส่วนกลาง และปลัดกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 170,000 ราย พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ภายหลังไตรภาคีมีมติ คงค่าแรงขั้นต่ำไว้เหมือนเดิม ทั้ง โครงการม.33 เรารักกัน เงินเยียวยาจากล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ ลดเงินสมทบประกันสังคม โดยสามารถลดค่าครองชีพผู้ประกันตนโดยเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews