“จิราพร” เริ่มอภิปรายวันที่ 2 จี้ปมเหมืองทองอัครา ชี้อนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดอาจมีกระบวนการประนีประนอม อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง เป็นข้อแลกเปลี่ยน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี วันสุดท้าย ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยยังคงเปิดให้สมาชิกอภิปรายต่อเนื่อง หลังเมื่อคืนนี้ สมาชิกอภิปรายจนถึงเวลา 00.49 น. และสั่งปิดการประชุม โด้ใช้เวลาไปแล้ว 14 ชั่วโมง 34 นาที วันนี้ จึงเหลือเวลาอีก 15 ชั่วโมง 25 นาที แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง 49 นาที พรรคร่วมรัฐบาล 1 ชั่วโมง 56 นาที และคณะรัฐมนตรี 2 ชั่วโมง 39 นาที
เริ่มจาก น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อประเด็นคดีเหมืองทองอัคราว่า พรรคเพื่อไทยนำเรื่องดังกล่าวเปิดเผย และอภิปรายซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึง 3 ครั้ง รวมถึงตั้งคำถาม แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ตรงคำถาม อีกทั้งยังพบว่ามีการปกปิดข้อมูลที่เชื่อว่าจะมีความเสียหายกับประเทศไทย ทำให้ต้องอภิปรายเรื่องดังกล่าวเป็นรอบที่ 4 ซึ่งตนขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าพร้อมตอบทุกคำถามให้ชี้แจงด้วยตนเอง ทั้งนี้ตนขอสังเกตว่า กรณีที่บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ฐานะบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพ์ออสเตเลีย ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ขณะที่กระบวนอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น คณะอนุญาโตตุลาการฯ จะเลื่อนอ่านคำชี้แจงออกไปเป็นกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่า
พล.อ.ประยุทธ์ นำทรัพย์สมบัติชาติไปประเคน และเอาประเทศเป็นเครื่องประกันตัวเองออกจากคดี
ทั้งนี้ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวรวมถึงกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาด โดยมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นอาจมีกระบวนการประนีประนอมยอมความเพื่อให้ถอนฟ้อง เพราะไม่ต้องการให้ศาลระหว่างประเทศตัดสิน หรือ ชี้สถานะทางกฎหมายของคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรมในสากล เพราะเป็นกฎหมายเถื่อนไม่ผ่านสภาฯ เป็นคำสั่งที่ออกจากคณะรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน หากอนุญาโตตุลาการฯ ชี้สถานะว่า มาตรา 44 ไม่มีผลทางกฎหมายจะกลายเป็นสึนามิต่อรัฐบาล ที่ใช้มาตรา 44 กับบริษัทคิงส์เกตฯ ในฐานะบริทต่างชาติ และมีองค์ประกอบเข้าข่าย เป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ตามนิยามข้อที่ 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งลักษณะองค์กร ดังนั้น การใช้มตรา44 อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนไทยคนแรก ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้มีการเจรจาถอนฟ้อง” น.ส.จิราพร อภิปราย
นอกจากนั้น หากการตัดสินมาตรา 44 ว่าผิด จะมีอาฟเตอร์ช็อคต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลทั้งคณะ คือ หากมาตรา 44 ผิดพลาด และรัฐบาลยังพยายามเอาทรัพย์สินและประเทศประกันตัวเองออกจากคดี หากไทยสามารถเจรจาประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกกฎหมาย จะกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรงซ้ำสองสร้างภาระประเทศไม่มีที่สิ้นสุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews