โอไมครอนกระจายแล้วทั่วประเทศ กลุ่มเด็กเล็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น สธ.ยัน มีเตียงเพียงพอ เน้นกลุ่มสีเขียวให้ HI/CI
วันนี้ (21 ก.พ. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และนพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงการณ์ อัปเดตสถานการณ์โควิด 19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ แนวทางมาตรการควบคุมโรค และสถานการณ์การบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานคร
นพ.จักรรัฐกล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ผู้ปกครองพาไปฉีด โดยเข็มแรกทั่วประเทศฉีดแล้วกว่า 76.4 % เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 71.1 % และเข็มที่ 3 ฉีดแล้ว 27.5 % ในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น ฉีดเข็มที่ 3 แล้ว 27.7 % และในกลุ่มเด็กเล็ก ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 7.7 % และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 นั้น จะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์ BA.1 แต่จะมีการแพร่ระบาดและติดเชื้อเร็วกว่า 1.4 เท่า ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันเป็นชนิด BA.2 แล้วกว่า 50 % คาดว่าจะแพร่เร็วขึ้นและมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 13-19 ก.พ. มีผู้ติดเชื้อรวม 115,917 ราย ซึ่ง 53.1 % ไม่มีอาการป่วยส่วนใหญ่แล้วอาการสำคัญได้แก่ ไอ เจ็บคอ และมีไข้ต่ำ ย้ำให้หมั่นตรวจ ATK เสมอหากมีอาการ และในกลุ่มอายุ 0-9 ปี และ 10-19 ปี พบว่ามีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่มีอาการไม่มาก
ด้านนพ.ธงชัยกล่าวว่า แม้ว่าความรุนแรงของอาการต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ถ้าหากเราปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่กลุ่มเสี่ยงก็จะมีมากขึ้นด้วย สำหรับผู้ป่วยไม่แสดงอาการ อาการน้อย หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ขอเน้นไปที่การ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เพื่อป้องกันปัญหาเตียงเต็มและขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ยืนยันว่าปัจจุบันมีเตียงรองรับสำหรับกลุ่มผู้ป่วยมีอาการหรือกลุ่มผู้ป่วยหนักแน่นอน
นพ.ณัฐพงศ์กล่าวถึงสถานการณ์การบริหารเตียงว่า เตียงในระบบสาธารณสุขทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 177,000 เตียง มีการครองเตียงในโรงพยาบาลอยู่ที่ 49 % อยู่ในระดับที่มีเตียงเพียงพอทั่วทุกเขตสุขภาพ ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด มีการครองเตียงในโรงพยาบาลไม่เกิน 50 % และกว่าครึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมมีเตียงกว่า 55,000 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 26,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเช่นกันซึ่งสามารถใช้เตียงระดับ 1 ได้ ซึ่งจะใช้วิธีการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation เป็นวิธีหลักสำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อสงวนทรัพยากรแก่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงต่อไป
ทั้งนี้ นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าสู่ระบบบริการของภาครัฐและเอกชนได้เลยทุกแห่ง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews