Home
|
ข่าว

เสียงแตก กม.ลูกเลือกตั้งส.ส.”พรรคเดียวเบอร์เดียว”

Featured Image
ที่ประชุมรัฐสภา ยังเสียงแตก เนื้อหา พรป.เลือกตั้ง ส.ส.แบบพรรคเดียวเบอร์เดียว

 

การประชุมร่วมรัฐสภา ในวันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2 เรื่องได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีการเสนอทั้งสิ้น 4 ฉบับ และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมือง มีการเสนอทั้งสิ้น 6 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องระบบเลือกตั้งก่อนหน้านี้โดยให้กลับไปใช้ระบบแบบบัตร 2ใบ มี ส.ส. 500 คน แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง4 ฉบับ รวมกัน เป็นเรื่องแรก โดย 4 ฉบับประกอบด้วย ฉบับที่ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ฉบับของพรรคก้าวไกล

 

สาระสำคัญที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก ในส่วนที่ฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เสนอเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครสำหรับหาเสียง ทั้งการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต เป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว เพื่อความสะดวกของประชาชนป้องกันการสับสน ในขณะที่ ฉบับของคณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงหลักการเดิม ใช้แบบพรรคเดียวหลายเบอร์ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 90 กำหนดให้มีการรับสมัคร ส.ส.เขต ก่อน การรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่จะส่งผลให้การรับสมัคร ส.ส.เขตต้องมีการจับหมายเลข แต่ละเขตแตกต่างกัน

 

โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่แก้ไขให้ใช้แบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ว่า เนื่องจากมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญเดิมยังไม่มีการแก้ไข และยังมีผลบังคับใช้ และมาตรานี้ เป็นผลมาจากการใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ความสำคัญกับคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขตก่อน เพื่อนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น จึงกำหนดให้มีการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตก่อน ดังนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ต้องรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตให้เสร็จก่อน ซึ่งการรับสมัคร รวมถึงการได้หมายเลขผู้สมัครด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่นนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเดียวที่แตกต่างกันชัดเจน ระหว่างฉบับฝ่ายค้าน และรัฐบาล ในการเสนอร่างกฎหมายครั้งนี้ ยอมรับว่าการเป็นพรรคเดียวเบอร์เดียว สามารถทำให้การหาเสียงง่ายประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง แต่ข้อเสียคือจะมีความโน้มเอียงต่อการตัดสินใจของประชาชน ที่เลือกคนแล้วต้องเลือกพรรคด้วย แต่หากเป็นคนละเบอร์จะทำให้ประชาชนพิจารณาเลือกได้ ระหว่างคนและพรรค แยกออกจากกันตามเจตนารมณ์ของบัตร 2 ใบได้ ส่วนที่ว่า ต่างเขตต่างเบอร์จะทำให้เกิดความสับสน นั้นเชื่อว่าไม่เป็นความจริง เพราะประชาชนปัจจุบันมีความเก่ง สามารถใช้แอพลิเคชั่นต่างๆ ได้ จึงไม่ได้มีปัญหาที่จะเลือกตั้งผิดพลาดได้ และยังมองว่าระบบนี้ ทำให้พรรคเก่าแก่ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบ เพราะเป็นพรรคที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ดังนั้นจะเบอร์ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหา เห็นจากการเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมา การเลือกตั้ง นายก อบจ. กับสมาชิก อบจ. ก็เบอร์ต่างกัน ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่กังวลกัน แต่ระบบบัตรสองใบนี้ พรรคที่เสียเปรียบคือ พรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคพลังประชารัฐก็เห็นด้วย เพื่อทำให้ประชาชน มีสิทธิที่จะเลือกระหว่าง การเลือก ผู้สมัคร เขต กับ พรรคการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องผูกอยู่ในหมายเลขเดียวกัน

 

ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา อย่าง นายกิตติ วะสีนนท์ เห็นว่า เรื่องหมายเลข พรรคเดียวหลายเบอร์ นอกจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยัง เป็นเรื่องที่ต้องให้เกียรติประชาชน เพราะประชาชนรู้จักผู้สมัคร ที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนดีพอสมควร ดังนั้นการมีเลขต่างกันไม่ใช่ปัญหา แม้หมายเลขเดียวกันจะง่ายกว่า แต่การพิจารณาร่ากฎหมายต้องยืนอยู่บนหลักการของรัฐธรรมนูญ

 

ด้าน นายทรงเดช เสมอคำ ไม่เห็นด้วยกับการใช้รูปแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพรรคการเมืองมากถึง 84 พรรคการเมือง และอาจมีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่า 48 พรรค 48 หมายเลข แต่หากใช้รูปแบบ พรรคเดียวหลายเบอร์ การจับฉลากหมายเลขก็เป็นไปตามจำนวนผู้สมัคร แต่ละเขตที่มีผู้สมัคร ไม่เกิน 20 หมายเลข ยืนยันว่าประชาชนไม่สับสน หากเป็นผู้สมัครที่ลงพื้นที่ ประชาชนจะจำได้ แต่หากหมายเลขเดียวกัน บัตรเลือกตั้งจะมีหลายเลขเยอะมาก

 

รับหมด! “รัฐสภา รับหลักการ 4 ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. แม้ ส.ว.โดดขวาง ให้แยกโหวตทีละฉบับ เพราะมองว่ามีเนื้อหาขัด รธน.

เมื่อเวลา 17.35 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เสร็จสิ้นในขั้นตอนการอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… แล้วเสร็จ ได้ถึงขั้นตอนของการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของที่ประชุม

 

ทั้งนี้ ก่อนการลงมตินายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ลงมติพร้อมกันทีเดียว 4 ฉบับ ทั้งของครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และของพรรคร่วมรัฐบาลแต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้แยกการลงมติรายฉบับ เพราะมีส.ว. อภิปรายระบุว่ามีบางฉบับที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับผลการลงมติ พบว่า เสียงข้างมาก 429 เสียงให้ใช้การลงมติแบบแยกรายฉบับ

 

ส่วนผลการลงมติ พบว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่…) พ.ศ… ทั้ง 4 ฉบับ

โดย ฉบับของ ครม. รับหลักการ 609 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

ฉบับของพรรคเพื่อไทย รับหลักการ 420 เสียง ต่อ 205 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง

ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล รับหลักการ 598 เสียง ต่อ 26 เสียง และงดออกเสียยง 12 เสียง

และ ฉบับของพรรคก้าวไกล รับหลักการ 418 เสียง ต่อ 202 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube