“ณัฎฐ์ชนน”อภิปรายเดือด!ยุปรับลดอำนาจศาล รธน. ชี้มีล้นเกินกว่าทุกสถาบัน พร้อมมอง”ไพรมารี่ โหวต” แค่กติกาตบตา กกต. ไม่เอื้อนักการเมืองรุ่นใหม่ วอน ส.ส.- ส.ว. อย่าตั้งธงไม่รับ
นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายแสดงความคิดเห็นในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่) พ.ศ….. จำนวน 6 ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเรียกร้องให้บรรดา ส.ส.และส.ว. อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจหรือตั้งธงว่าจะรับหรือไม่รับร่างฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่ขอให้ฟังการอภิปรายสาระสำคัญในร่างฯ ก่อน เพราะการจะทำให้ ส.ส. และส.ว. เห็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นเรื่องยาก
พร้อมเปรียบเทียบการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด ที่มีการปรับสัดส่วน ส.ส.จำนวน 500 คนใหม่ ให้มาจาก ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ว่า เหมือนการแก้ไขบ้านใหม่ให้กับ ส.ส. ที่ผู้เสนอร่างฯ เป็นวิศกรนำเสนอแปลนแก้ไขบ้าน และมีคณะกรรมาธิการ49 คน ทำหน้าที่ออกแบบ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 อาทิ
ประเด็นอัตราค่าธรรมเนียมบำรุงพรรคการเมืองชั่วคราวจำนวน 100 บาท และถาวร 2,000 บาท ว่ามีความจำเป็นจะต้องจัดเก็บเงินหรือไม่ ความจำเป็นในการมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด การยกเลิกกำหนดจำนวนสมาชิกพรรคขั้นต่ำ และการยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ถูกศาลสั่งให้ยุบพรรค
ขณะเดียวกัน วันนี้ใครที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริหารพรรค ตนไม่รู้จะไปแสดงความยินดีหรือเสียใจ เพราะโทษที่ได้รับคือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากมีสมาชิกพรรคกระทำความผิดถือเป็นโทษที่โหดร้ายมาก เพราะเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรค
ทั้งนี้ อำนาจสูงสุดของประเทศ คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือทุกสถาบัน สามารถสั่งให้นายกฯ หลุดจากตำแหน่งได้ โดยสั่ง ส.ส.ที่เป็นเพื่อนตนหลุดจากตำแหน่งไปแล้วหลายคน ภาษาวัยรุ่น คือ ศาลรัฐธรรมนูญ …. ทุกสถาบัน ทุกครั้งที่พรรคถูกยุบ ทุกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์เพื่อน ส.ส. ตนเศร้าใจทุกครั้งจึงขอฝากให้กรรมาธิการฯ ได้ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองด้วย
อย่างไรก็ตาม นายณัฎฐ์ชนน ยังเห็นด้วยกับการแก้ไขระบบไพรมารีโหวต เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่สามารถใช้ในทางปฏิบัติได้จริง เพราะเดิมตนมองว่าเป็นกติกาที่เอื้อให้นักการเมืองรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ง่าย แต่สุดท้ายกลายเป็นเพียงกระบวนการตบตา กกต. ไม่มีผลในการพิจารณา
เพราะในกระบวนการสรรหาผู้สมัครมีหัวหน้าพรรคเลขาธิการ มีคณะกรรมการบริหารพรรค และมีคณะกรรมการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่วิ่งเข้าหาส่วนที่มีอำนาจตัดสินใจแบบผิดทาง ถ้าจะสร้างการเมืองใหม่จริงๆอย่าไปหลอกลวงเขา เหมือนที่ผมเคยโดนหลอกมาแล้ว จึงขอให้รัฐสภาเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นสถาบันการแก้ไขกฎหมายมากกว่าการใช้กระบอกปืนในการแก้ไขกฎหมาย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews