“มนัญญา” เตรียมคุย “เฉลิมชัย” แก้โควต้านมโรงเรียน
“มนัญญา” เตรียมหารือ “เฉลิมชัย” แก้ปัญหาโควต้านมโรงเรียน ช่วยเหลือสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมให้ได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่าย
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแก้ไขปัญหาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรับมอบหนังสือพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย – เดนมาร์ค จำกัด ว่า จะนำข้อร้องเรียนหารือต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหา และจะเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้สามารถมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน และได้รับงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรให้โครงการนี้ปีละกว่า 14,000 ล้านบาท สำหรับผลิตนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนของไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความยั่งยืนในอาชีพ ต่อไป อีกทั้งเป็นการช่วยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย
ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนของชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย – เดนมาร์ค จำกัด ที่ได้มีการประชุมร่วมกันในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีหลายประเด็นที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อาทิ 1. การจัดสรรโควต้านมโรงเรียนให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปีการศึกษาละ 96 ตัน เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ 2. คุณภาพนมดิบที่เข้าโครงการเป็นไปตามมาตรฐานที่มีการกำหนดหรือไม่ และ 3. การที่มีผู้ประกอบการไปจัดตั้งโรงงานผลิตนมขนาดเล็ก 3 – 5 ตัน เพื่อขอรับสิทธิ์เข้าโครงการนมโรงเรียน โดยไม่มีที่มาของฟาร์มนมที่จะเป็นวัตถุดิบ กรณีนี้จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของโครงการนมโรงเรียนคือต้องการให้นักเรียนของไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยมีความยั่งยืนในอาชีพ ที่ผ่านมาจึงได้มีการกำหนดรูปแบบโครงการว่า นมที่เข้าโครงการนมโรงเรียน ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเกษตรกร แต่จะเห็นว่าปัจจุบัน อ.ส.ค. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่รับซื้อ รับผิดชอบนมจากเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 4,500 ครัวเรือน ปริมาณน้ำนมดิบ 700 ตันต่อวัน แต่ได้สิทธิ์โควต้านมโรงเรียนเพียง 96 ตันต่อวัน ที่เหลือเป็นภาคส่วนอื่นที่ได้รับโควต้าไป แต่เมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งราคาน้ำนม คุณภาพน้ำนม นมโรงเรียนบูด นมโรงเรียนเสีย อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานแรกที่ถูกร้องเรียน ในขณะที่ อ.ส.ค. มีส่วนผลิตเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น และสัดส่วนนมโรงเรียน 96 ตันต่อวัน ไม่สามารถที่จะดูแลสมาชิกสหกรณ์โคนมได้อย่างครอบคลุม ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน รวมถึง อ.ส.ค. ยังต้องแบกภาระสต็อกน้ำนม UHT กว่า 30,000 ตัน เนื่องจากประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนั้น จะเสนอ รมว.เกษตรฯ ให้นำเรื่องนี้หารือในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร่งด่วน จะไม่รอให้เกษตรกรต้องขนนมมาทิ้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews