คณะก้าวหน้า เปิดแคมเปญ ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น
คณะก้าวหน้า เปิดแคมเปญ ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น เตรียม ล่ารายชื่อแก้ รธน.หมวด 14 ยุบส่วนภูมิภาค ลุยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ มั่นใจ ได้รับความเห็นชอบหากไม่ยุบสภาก่อน
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ร่วมแถลงถึงความพร้อมในการเตรียมยื่นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น และยื่นเป็นผู้เชิญชวนประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญแก่รัฐสภา ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น”
โดยนายปิยบุตร กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าอำนาจหน้าที่ในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความซ้ำซ้อนกับราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนกลาง หลายเรื่องผู้มีอำนาจตีความทางกฎหมาย ก็ตีความในลักษณะจำกัดอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น ทั้งเรื่องรายได้ หรืองบประมาณ มีไม่เพียงพอที่สามารถบริหารงานได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งหลายกรณียังพบมีการแทรกแซงการทำงานด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ในสายตาของ คสช. และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ พวกเขามองท้องถิ่นเสมือนเป็นลูกน้อง เป็นแขนขา รวมถึงเป็นกลไกของรัฐบาลของเขา ยืนยันว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พวกเราตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่มา เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้จัดทำนโยบายที่ชื่อว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น “
เราตั้งใจว่าหากวันหนึ่งเข้าไปเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่เรายังไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล และมาถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เราจึงมาก่อตั้งเป็นคณะก้าวหน้า แต่ยืนยันว่าจะรณรงค์แนวคิดนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ต่อไป ซึ่งหนึ่งในเรื่องนั้นคือเรื่องการกระจายอำนาจ
โดยนายปิยบุตร ระบุถึงแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” โดยจะใช้สิทธิตาม รัฐธรรมนูญ คือ ตามมาตรา 265 (1) ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ สามารถเสนอร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติมได้ วันนี้เห็นควรยกเลิกหมวด 14 และเขียนใหม่ โดยนำเนื้อหาสิ่งที่เป็นข้อดีในรัฐธรรมูญฉบับปี 40 และปี 50 มาร่วมด้วย
ทั้งนี้ใจความหลักที่คณะก้าวหน้าต้องการจะแก้ไข เช่น
การบัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามหลักเจตนารมณ์ของประชาชนเอาไว้
การบัญญัติหน้าที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น หมายเหตุมีบางเรื่องเฉพาะที่ท้องถิ่นทำไม่ได้
เรื่องความซ้ำซ้อน ของการจัดทำนโยบายสาธารณะ
การจัดการปัญหาเรื้อรัง เช่นแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ
ในระดับองค์กรส่วนท้องถิ่นผู้บริหาร และสมาชิกท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทุกกรณี
ให้ออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องของรายรับของท้องถิ่น เสนอเพิ่มสัดส่วนที่ท้องถิ่นหามาได้ ตัดรายได้ที่ส่วนกลางได้รับร้อยละ 50
เพิ่มความยืดหยุ่นในการหารายได้ของท้องถิ่น ในการจัดทำนโยบายสาธารณะ
กำกับดูแลท้องถิ่น ต้องไม่เกินหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น
สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง
วางโรดแมพยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 5 ปี ครม. จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติถามประชาชนว่าต้องการให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วหรือยัง เป็นต้น
ทั้งนี้การดำเนินการหลังจากนี้ จะต้องมีรายชื่อของผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน จึงจะสามารถนำร่างดังกล่าวไปยื่นต่อประธานรัฐสภาได้ จากนั้นจึงจะเริ่มล่ารายชื่อประชาชนต่อไป โดยวางกรอบ 1 เมษายน เป็นวันเริ่มโครงการวันแรก
จึงเชิญชวนประชาชนร่วมกันลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกท้องถิ่น และปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่น โดยจะเริ่มให้ประชาชนลงชื่อได้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ทั้งออนไลน์ และลงชื่อโดยตรง ซึ่งหากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือยุบไปเสียก่อนก็คาดว่าจะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาและมั่นใจจะได้รับความเห็นชอบแน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews