“ธัญวัจน์” อ้างต่างชาติกังขา ครม.เตะถ่วงกฎหมายสมรสเท่าเทียม 60 วัน จี้ กรมองค์กรระหว่างประเทศ เปิดเผยการแถลงที่เจนีวา
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ ( ปพพ.1448 ) หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสรายงานสถานการณ์ประเด็น สมรสเท่าเทียม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand : FCCT) ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนความหลากหลายทางเพศ ร่วมอภิปรายด้วย เพราะเป็นประเด็นหนึ่งของความเสมอภาคที่ทั่วโลกจับตามอง น่าเสียดายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้เชิญกรมคุ้มครองสิทธิ์ให้มาเป็นผู้ร่วมอภิปรายในฐานะฝ่ายรัฐ แต่ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์ไม่สามารถมาร่วมได้
ทั้งนี้ นักข่าวและกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มาร่วมฟังการอภิปราย ต่างสะท้อนว่า ไม่เข้าใจถึงขั้นตอนที่นำกฎหมายไปพิจารณา 60 วัน ก่อนรับหลักการวาระ 1 ว่าทำไม จึงต้องนำกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปพิจารณาอีก เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ส่วนจะเป็นเรื่องของการเมืองได้หรือไม่ เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน แต่ก็มีทางออก 2 ทาง คือ
ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เพื่อประกบกับพรรคก้าวไกล เพราะร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตไม่สามารถประกบกับสมรสเท่าเทียมได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง และแยกพิจารณาสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตคนละวาระกันไป
และอีกทางหนึ่งคือผลักคู่ชีวิตให้เป็นกฎหมายสำหรับทุกเพศเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะนิยามความสัมพันธ์แบบ “เพื่อน” หรือแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การสมรส เพราะอย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นต้องผ่านกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเท่านั้น
ขณะเดียวกัน กรมองค์กรระหว่างประเทศ ที่เดินทางไปประชุมเพื่อหารือ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ช่วงกลางกุมภาพันธ์ ได้แถลงจุดยืนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมอย่างไรต่อเวทีโลก ก็ควรจะออกมาแถลงต่อประชาชนในประเทศไทยให้ทราบด้วย
อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะผู้แทนราษฎรที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการที่เข้าประชุมในวันนั้น ขอให้ตนทำงานเพื่อประชาชน เพราะนี่คือกฏหมายที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรอคอยมามากกว่า 10 ปี และทุกคนต่างรู้ว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว 60 วัน และการที่ ครม.ขอนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ ขอให้เป็นการศึกษา ที่ไม่ใช่การเตะถ่วงหรือเล่นเกมการเมือง เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นี่คือกลไกรัฐสภาหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ต้องทำเพื่อประชาชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews