กมธ.ต่างประเทศ ลงพื้นที่หนองคาย ศึกษาผลกระทบรถไฟจีน-ลาว มองรัฐล่าช้าทำไทยเสียโอกาส แนะเร่งสร้างสถานีรองรับในหนองคาย-พร้อมเจรจาจีนเพื่อดึงโอกาสกลับไทย
คณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายศราวุธ เพชรพนม ประธานกรรมาธิการฯ, นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม โฆษกกรรมาธิการฯและประธานอนุกรรมาธิการ, นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ กรรมาธิการ, นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ รองประธานอนุกรรมาธิการ, นายพงษ์ศักดิ์ พิบูลย์ศักดิ์ อนุกรรมาธิการ, นายวิโรจน์ พิพัฒน์ไชยศิริ, นางสาวชญาภา สินธุไพร ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ และนางสาววิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ และ ฯลฯ ลงพื้นที่ จ. หนองคาย เพื่อศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ของไทยกรณีการเปิดให้บริการของรถไฟจีน-ลาว พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยภาคเอกชน โดยจากการศึกษาเบื้องต้น คณะฯเห็นว่ารัฐสามารถเตรียมความพร้อมประเทศได้มากกว่านี้
ทั้งนี้ นายศราวุธ ระบุว่า โจทย์ของคณะกรรมาธิการ คือการมารับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำผลการศึกษาเสนอต่อ ครม. ให้ไปปรับปรุงมาตรการรองรับอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าจีนลาวได้สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทยเส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย จากเดิมที่คาดว่าน่าจะสร้างเสร็จในปี 2571 ดูจะล่าช้ากว่ากำหนด และยังไม่ได้มีการเตรียมการใดๆที่รองรับการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากรถไฟฟ้าจีนลาวเลย จึงเป็นห่วงว่าประเทศและผู้ประกอบการไทยจะเสีย “เวลา” ซึ่งเป็นต้นทุนทางโอกาสที่สำคัญ
ด้านนายจักรพล กล่าวว่า จากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขณะนี้สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีน กำลังถูกกีดกัน ด้วยมาตรการ “ซีโร่โควิด” ของรัฐบาลจีน โดยจีนได้สร้าง “ด่านโม่หาน” เป็นด่านตรวจโควิดด่านแรกเพื่อตรวจสินค้าที่จะเข้าประเทศ หากรัฐบาลไทยจะเจรจาขอความร่วมมือจากทางจีนในการให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสินค้าแก่ผู้ประกอบไทย รวมถึงอาจจัดตั้งศูนย์ตรวจพร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสินค้าในประเทศไทย นำกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศมาใช้
สร้างระเบียงเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถลดความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่สินค้าถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาความตกลงว่าด้วยพิธีสาร 13 กันยายน 2564 กับจีนได้มีการลงนามตกลงแล้ว แต่การส่งออกไม่สามารถเริ่มได้เพราะมาตรการโควิดของจีนที่เคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างผลไม้ไทยมูลค่าสูงที่เป็นที่นิยมและต้องการของตลาดจีนมาก ทั้งนี้ทางคณะฯจะนำทุกข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ไปหารือและหาทางออกเพื่อที่จะชดเชยโอกาสที่เสียไปของโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวอีสานและประเทศไทย
ด้านนายจุลพันธุ์ ระบุว่า ที่จริงประเทศไทยควรจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงใช้ ตั้งแต่ปี 2563 ตามโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายต้องหยุดชะงักไปทำให้เสียโอกาสเป็นอย่างมาก ในทางปฏิบัติคณะฯ ได้ติดตามดูความคืบหน้าจริงของรถไฟฟ้าจีน-ลาวแล้วใน 4 เดือนที่ผ่านมามีผู้โดยสารกว่า 1,800,000 คน สินค้าขนส่งไปแล้ว 1.2 ล้านตัน นี่คือโอกาสที่ประเทศไทยสูญเสียไปในช่วงที่ผ่านมา การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอแนวทางในการดึงโอกาสกลับมาให้ประเทศไทยอย่างไรให้เร็วที่สุด เพราะไทยกำลังถูกจีนเจาะตลาดผ่านทางเส้นทางคมนาคมเส้นใหม่นี้ โดยสินค้าที่นำเข้ามาในไทยเป็นอันดับหนึ่ง กลับเป็นพืชผักผลไม้ที่เข้ามาตีตลาดไทยโดยเฉพาะ อาจเป็นตัวเลขที่น่าตระหนก แต่หากเรามองวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐต้องเร่งเจรจานำสินค้าไทยกลับเข้าไปสู่ตลาดจีน เพราะรถไฟที่ขนสินค้ามาจากจีน คงไม่ความประสงค์ที่จะตีกลับเป็นรถไฟเปล่าอย่างแน่นอน
นอกจากนั้นนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในช่วงปี 2556 ได้เคยมีการสำรวจเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย และ ระบบรางระหว่างไทย-ลาว-จีน และ ไทย-จีน-เวียดนาม เพื่อประสานความ ร่วมมือให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้ จ.หนองคาย เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รองรับการเชื่อมโยงรถไฟทางคู่กับต่างประเทศ หนองคายควรจะเป็น “ประตูมังกร” เชื่อมไทยไปสู่ตลาดโลกสร้างโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและธุรกิจ SME และเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน แต่วันนี้ด้วยความไม่พร้อม และความไม่เข้าใจ ทำให้หลายๆอย่าง ล่าช้าไปหมด เรากำลังสูญเสียโอกาสมหาศาล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews