“สุชาติ” บอกค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ข้อสรุป ขึ้นเท่าไหร่อยู่ที่ไตรภาคี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อโซเชียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ!!! เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) ว่า ข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนด ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผลสามารถตอบสังคมได้ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า ทั้งนี้ ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% เชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่างๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเชียลนั้นมาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง
โดยตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่เคยนิ่งนอนใจ รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เป็นห่วงและให้ความสำคัญมาตลอด จึงนำนโยบายช่วยเหลือเยียวยาทางอ้อมทุกเรื่องให้กับประชาชน ผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือเยียวยาทุกมาตรการทุกอย่าง
ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนและผู้ใช้แรงงานทุกคน และได้สั่งการให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาตลอดเวลา แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ก็มีออกมาเรื่อยๆ ทั้งช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายละ 3,000 บาท รักษาระดับการจ้างงานให้ลูกจ้างเกือบ 5,000,000 คน ทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องตกงาน ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจและเชื่อมั่นว่ากระทรวงแรงงานจะติดตามการช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews