รัฐบาล ยืนยันดูแลประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งเน้นใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ย้ำเสถียรภาพการคลังของประเทศยังแข็งแกร่ง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ รวมถึงออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านต่าง ๆ ทั้งด้านพลังงานและเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ด้านขนส่ง แรงงานและนายจ้าง โ
ดยมุ่งเน้นให้การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่เป็นไปอย่างมีระบบ มีแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน ทำให้ขณะนี้ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง โดยเสถียรภาพด้านการคลังดูได้จากการบริหารรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งฐานะทางการคลังของรัฐบาลตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) ระดับอัตราเงินคงคลังปลายงวดอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงตามดุลเงินสดที่ขาดดุลอยู่ในขณะนี้และเป็นไปตามดุลงบประมาณ
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 901,414 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 394,465 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 700,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 418,588 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลได้มีการกำหนดสภาพคล่องไว้อยู่ที่ประมาณ 400,000 – 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพพียงพอ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลคาดจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดคือ 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ยังมีความเข้มแข็งอยู่ที่ประมาณ 245,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งอยู่ในระดับสูงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ขณะเดียวกัน เสถียรภาพทางด้านราคา ซึ่งดูจากอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีผู้บริโภคนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน โดยเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% และเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อประมาณ 5% แต่หากดูอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมเรื่องพลังงานกับอาหารสด อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 0.5 ในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มที่ 1.8 ซึ่งรัฐบาลก็ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนระยะสั้นในการลดต้นทุน และการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ผ่าน 10 มาตรการสำคัญโดยพุ่งเป้าเน้นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง
พร้อมมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะต่อไป ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของแรงงานรวม ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา รวมไปถึงการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผู้ประกอบการด้านโรงแรมสามารถกลับมาเริ่มดำเนินกิจการและรักษาการจ้างงานได้ รวมทั้งประชาชนมีความมั่นใจที่จะเดินทางมากขึ้นภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ การค้าขายระหว่างประเทศทั้งการนำเข้า-ส่งออกของประเทศไทยทั้งในปี 2563 และปี 2564 แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบ Global supply chain disruption ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งเรื่องของวัตถุดิบ อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อภาคการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภค ทำให้เกิดการชะลอตัวในการผลิตในปี 2563 แต่จากที่มีการป้องกันระดับโรงงาน คือ Factory quarantine ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ และส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตในมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐประมาณ 17 – 20% ซึ่งในปีนี้คาดว่าตัวเลขการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 5 – 10%
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้คือภาคเกษตร และการค้าขายชายแดน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในรอบอาเซียนยังคงพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2565 คือภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงในส่วนของภาคเอกชนที่ได้มีการระดมทุน โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดในปี 2564 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ภาคการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน ทั้งค่ายรถเดิมที่มีอยู่และค่ายรถใหม่ แสดงให้เห็นได้ว่าภาคเอกชนยังมีการลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews