“อนันต์” ติดโควิดร่วมประชุมกมธ.กม.ลูกไม่ได้
“อนันต์ ผลอำนวย” ติดโควิด อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่มีไข้ ไม่สามารถร่วมประชุม กมธ.ลงมติ 2 ประเด็นสำคัญสัปดาห์นี้ได้
นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… คนที่สาม รัฐสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ตนมีอาการเจ็บคอ จึงเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลพญาไท ผลเป็นบวก จึงเข้าแอดมิดที่โรงพยาบาล เบื้องต้นแพทย์แจ้งว่าต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 วัน โดยอาการของตนตอนนี้ เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่มีไข้ อย่างไรก็ดีการติดโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องที่เกิดความคาดหมาย เพราะคนที่ทำงานและนั่งใกล้ชิดตน ทั้ง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในกมธ.กิจการสภาฯ , นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้งส.ส. คือผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหน้านั้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในการประชุมกมธ.ฯ วันที่ 30 -31 มีนาคม ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แม้จะมีการนัดหมายลงมติใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.กำหนดหมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อว่าจะเป็นหมายเลขเดียวกันหรือต่างหมายเลขกัน ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 30 มีนาคม เวลาประมาณ 11.30 น. โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้ต่างหมายเลข เพราะจากประสบการณ์การเมืองของตน 26 ปี เห็นว่าปัจจัยที่ประชาชนจะเลือกผู้สมัครส.ส. ขึ้นอยู่กับการลงพื้นที่ การช่วยเหลือประชาชนเป็นประจำ ไม่ใช่ลงพื้นที่พบชาวบ้านเฉพาะตอนช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น หรือที่เรียกว่า เป็นผู้แทนที่ดีเมื่อตอนมีเบอร์ ดังนั้น ไม่ว่าผู้สมัครส.ส.ที่ประชาชนตัดสินใจเลือกได้เบอร์อะไร ผู้เลือกตั้งจำ และสามารถกาคะแนนให้ได้ ดังนั้นประเด็นแยกหรือไม่แยกเบอร์ไม่ใช่ประเด็นว่าเป็นเรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
ซึ่งการใช้เบอร์เดียวกัน 2 ระบบ มีข้อดีคือ ง่าย แต่มีข้อเสียที่สามารถใช้ลูกเล่น หรือแทคติกทางการเมือง หากการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง โดยมีเจตนาเพื่อให้การตัดสินใจเลือกผู้สมัครส.ส.ที่มีคุณภาพ ควรกำหนดแยกเเบอร์ เพราะจะเป็นเครื่องวัดว่าผู้สมัครส.ส.ของพรรคไหนที่ประชาชนไว้วางใจ และให้คะแนนนิยมผู้สมัครพรรคไหนมากกว่ากัน
ส่วนประเด็นการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 31 มีนาคม เวลาประมาณ 11.30 น. ซึ่งประเด็นดังกล่าวตนและคณะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไข ทั้งนี้ยืนยันว่าเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการลดอายุผู้ร่วมก่อตั้งพรรค จาก 20 ปี เป็น 18 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในพรรคการเมือง
ขณะเดียวกัน จะเสนอให้เลื่อนโหวตประเด็นคุณสมบัติผู้ร่วมจัดตั้งพรรค หรือไม่ นายอนันต์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกมธ.ฯ เบื้องต้นตนมองว่าหากในกมธ. มีคนเข้าร่วมไม่ถึง 30 คน ควรพิจารณาเลื่อน แต่หากมีผู้เข้าร่วม 45 คนควรเดินหน้าต่อ แม้การประชุมหรือลงมติจะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่การลงมติในประเด็นใดๆ ควรให้กมธ.มีส่วนร่วมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากกมธ.เดินหน้าลงมติและผลพิจารณาว่าข้อเสนอของตนไม่ผ่าน ตนในฐานะกมธ. มีสิทธิสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาต่อไปได้ เช่นเดียวกับการตัดสินประเด็นเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ที่ขณะนี้มีเสียงก้ำกึ่งกัน
สำหรับ กมธ.กฎหมายลูกที่แจ้งการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่
1.นายชินวรณ์
2.นายนิกร พบการติดเชื้อ เมื่อ 17 มี.ค. และ วันที่ 30 -31 มี.ค. สามารถเข้าร่วมประชุมได้
3.นายเกรียงไกร พานดอกไม้ รองเลขาธิการ กกต. พบการติดเชื้อ เมื่อ วันที่ 19 มี.ค.
4. นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. พบการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.
5.นายอนันต์ ยืนยันผลติดเชื้อ 27 มี.ค.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews