“วิษณุ” ขออย่าเพิ่งคาดเดาอะไร ชี้กฎหมายแล้วเสร็จต้องผ่าน กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน ยากส่งผลเลือกตั้งโมฆะ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการตั้งประเด็นข้อสงสัยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต่างเบอร์กันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 90 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 2 ประเภทผูกมัดระหว่างกัน ว่า ก่อนหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.เคยชี้แจงมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นเพียงความเห็นของกกต. แต่หากใครเห็นว่ามีช่องทางทำได้หรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีวิธีเขียนให้ดี แต่ตนก็ไม่ทราบว่าจะต้องเขียนอย่างไร เท่าที่คุยกันอยู่ในเวลานี้ที่หลายคนเสนอว่ามีวิธีการเขียนที่ดี เช่น วันแรกมีการรับสมัครผู้แทนแบบเขตก่อน แต่ยังไม่ให้หมายเลข โดยจะให้ย้อนหลังพร้อมกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ตนไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ พร้อมกับยอมรับว่าการสมัครแล้วไม่ให้เบอร์ในทันทีจะถือว่ามีปัญหา ว่าเป็นการสมัครที่เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ จึงต้องไปตีความดู
ทั้งนี้นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีความเห็นว่าการใช้เบอร์เดียวกับสองเบอร์อะไรสะดวกต่อการเลือกตั้งมากกว่ากัน เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีปัญหาว่าจำยากหรือง่ายเท่านั้น “แต่เผอิญผมจำเก่งเลยไม่มีปัญหา” ซึ่งตนก็ได้มีการพูดคุยประเด็นนี้แล้วครั้งหนึ่งแต่ตนไม่รู้ว่าเป็นกรรมาธิการหรือไม่ และตนก็ไม่ทราบว่าแนวโน้มจะออกมาเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ ขออย่าเพิ่งคาดเดาอะไรเลย เพราะวันที่ 30 มี.ค.เขาจะตัดสินในขั้นกรรมาธิการ
ขณะที่ความเห็นของนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าหากการเลือกตั้งแล้วเสร็จแต่มีปัญหาอาจสุ่มเสี่ยงต่อการโมฆะ นายวิษณุ ระบุว่า เมื่อถึงเวลากฎหมายเสร็จก็จะส่งให้กกต.เป็นคนดู ซึ่งกกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดูอีกครั้ง และเมื่อสองหน่วยงานนี้ดูแล้วก็เป็นไปได้ยากที่การเลือกตั้งจะโมฆะ เพราะระหว่างนี้จะมีข้อแย้งมาให้ไปแก้ไข
ทั้งนี้นายวิษณุ ยังอธิบายอีกว่า รัฐธรรมนูญใช้คำว่า เมื่อสภาทำเสร็จต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กกต. แต่จะมีคำบัญญัติบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีความจำเป็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย
นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี การตีความอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า ยัง เหลือเวลาอีก 4 เดือน พร้อมกับมองว่าจะเกิดความชัดเจนก่อนช่วงเดือน ส.ค.อย่างแน่นอน เมื่อใครเกิดข้อสงสัย สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สงสัยก็จะไม่ส่ง หากคนอื่นสงสัยก็ส่งไป เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะแล้ว ซึ่งประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาด
ส่วนจะถือว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้หรือไม่นั้น ตนเองไม่ทราบ แต่ดำรงตำแหน่งต่อได้หรือไม่ก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ ส่วนใครสงสัยสามารถส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร ว่าจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งได้ 8 ปี ไม่ว่าจะนับอย่างไรก็ตามต่อเนื่องกัน แต่ปัญหาคือจะเริ่มนับหนึ่งตอนไหน ตอนปี 2557 หรือปี 2560 หรือปี 2562 แต่ส่วนตัวไม่ขอตอบว่าควรนับปีใด
ทั้งนี้นายวิษณุ ยังระบุว่า ขอสื่อมวลชนอย่าเพิ่งเดาตีตนไปก่อนไข้ ยังไงก็มีคนสงสัยและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอยู่ดี ส่วนหากเมื่อครบวาระ 8 ปี แต่นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้นายกรัฐมนตรีสามารถรักษาการได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าไม่นับอายุระหว่างรักษาการ
ส่วนเมื่อรัฐบาลไม่สงสัยก็จะไม่ยื่นให้ตีความใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า รัฐบาลเคยสงสัยจนเลิกสงสัยแล้ว เพราะจะมีคนอื่นมาสงสัยแทน ซึ่งตนไม่สงสัย ก่อนที่จะพูดทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะนับอย่างไร ตนก็ไปอยู่ดี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews