Home
|
ข่าว

“จุรินทร์” ย้ำสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำเงินเฟ้อ

Featured Image
“จุรินทร์” ย้ำสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำเงินเฟ้อ ราคาสินค้าขยับสูงขึ้น ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เล็งปรับปุ๋ย-อาหารสัตว์ตามสมดุล เผยส่งออก 2 เดือน ยังเป็นบวก

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม“พาณิชย์เดินหน้าอมก๋อยโมเดล @พังงา สินค้ามังคุดทิพย์พังงา” และติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่อาคารอเนกประสงค์ปากถัก ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา

 

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นตลาดใหญ่ จีนจึงมีความสำคัญมาก โดยสามารถส่งออกไป 3 ทาง คือ ทางเรือ ทางบกและทางอากาศ ซึ่งทางเรือเป็นทางดั้งเดิมที่ส่งออกเยอะที่สุดในอดีต แต่ช่วงหลังมาใช้ทางบกมากขึ้น เพราะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนตั้งแต่ช่วงโควิด และค่าบรรทุกแพงขึ้นมาก ล้งและผู้ส่งออก จึงหันมาใช้ทางบกแทนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดที่ด่านระหว่างไทยไปลาว ลาวไปเวียดนาม และโดยเฉพาะเวียดนามเข้าจีน อีกทาง คือ ทางเชียงของไปบ่อเต็นของลาว และไปโม่ฮานของจีน การจราจรติดขัดมาก เพราะทุกคนหันมาใช้ช่องทางนี้ และจีนมีนโยบายซีโร่โควิดเป็นอุปสรรค ตนพยายามเจรจาว่าจะทำอย่างไรผ่อนคลายมาตรการให้คล่องตัวขึ้น กำลังนัดหมายรัฐมนตรีจีนแลกเปลี่ยนความเห็นและคลี่คลายปัญหาร่วมกันให้เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะฝ่ายไทยเท่านั้น แต่จะทำให้ผู้บริโภคผลไม้ไทยชาวจีนได้รับผลไม้ที่สดใหม่เพียงพอกับการบริโภคมากขึ้น

 

ส่วนการส่งออกจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย เดือน ม.ค.-ก.พ. 65 ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่เกิด ก็ยังไปได้ดี เพราะสามารถทำได้ +12.2% ทำเงินเข้าประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าว่าปี 65 จะทำให้ได้ 9 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเข้าเดือนที่สามต้องเผชิญกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะนี้ กำลังตามตัวเลขอยู่ว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้น คาดเดาว่า ตัวเลขยังเป็นบวก และเมื่อมีปัญหา กรอ.พาณิชย์ ตนกับภาคเอกชน ช่วยกันแก้ปัญหาหน้างานได้เร็ว คาดว่า ตัวเลขยังพอไปได้อยู่ในเดือนมีนาคม

 

สำหรับปัญหาราคาผัก ไข่เป็ด ขยับขึ้นราคา ต้องยอมรับว่า เงินเฟ้อเกิดทั่วโลก ไม่ใช่เกิดแต่ประเทศไทย หลายประเทศหนักกว่าเมืองไทยเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนไทย เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะราคาน้ำมันแพงขึ้น จึงมีผลกับราคาสินค้าและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งไทยต้องแก้ปัญหาหน้างานบนพื้นฐานให้ทั้ง 3 ฝ่าย สมดุล สินค้าเกษตรจะดูปลายทางราคาที่ขายให้ผู้บริโภคเอากำไรแค่พอควรหรือกำไรน้อยที่สุดเท่าที่ยังให้การบริหารจัดการไปได้ ผู้บริโภคจะได้ไม่เดือดร้อนมาก เกษตรกรยังได้ราคาดีอยู่ แต่บางเรื่องเกษตรกรบางกลุ่มมีความขัดแย้งกันเช่นเรื่องอาหารสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพดอยากให้ข้าวโพดแพง ขณะนี้กิโลกรัมละ 11-12 บาท แต่คนเลี้ยงหมูเป็ดไก่อยากให้ข้าวโพดราคาถูก เพราะเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ ทำให้จำเป็นต้องขายเนื้อสัตว์ราคาแพงขึ้น ขณะนี้พยายามกำกับราคา ที่จำเป็นต้องขึ้นราคา เพราะถ้าไม่ขึ้น ผู้ผลิตเลิกผลิตหรืออะไรที่จำเป็นต้องขึ้นแล้วเลิกนำเข้า จะทำให้มีปัญหาเรื่องของขาด จึงต้องอนุญาตให้ขึ้นเท่าที่จำเป็น และปุ๋ยก็เช่นเดียวกัน ที่ไทยนำเข้า 100% ต้นทุนแพงขึ้นมาก ซึ่งปุ๋ยทำจากน้ำมันต้นทุนผลิตปุ๋ยแพงขึ้น การนำเข้าการขนส่งต้องใช้น้ำมันการขนส่งก็แพง ทำให้ราคาขึ้น จำเป็นต้องขายแพงขึ้น แต่อนุญาตให้ขึ้นราคาเท่าที่จำเป็น ไม่ค้ากำไรเกินควร ซึ่งต้องแก้ทั้งปริมาณให้สมดุล

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube