กมธ. มีมติแก้มาตรา 12 ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เพิ่มคำ จาก“บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” เป็น“บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” หวังครอบคลุม-ชัดเจนยิ่งขึ้น
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… แถลงภายหลังการประชุมกมธ.วิสามัญฯว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส. ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส.
โดยที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นความหมายของคำว่า “บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” ตามร่างมาตรานี้ว่ามีความหมายเพียงใด และครอบคลุมคำว่า “พรรคการเมือง” หรือไม่ โดยที่ประชุมมีความเห็นชอบควรเพิ่มคำว่า “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” เป็น“บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือพรรคการเมืองใด” เพื่อให้ความในร่างมาตรานี้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 12 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่เพิ่มเติมคำว่า “หรือพรรคการเมืองใด” ต่อท้ายคำว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” จะมีนัยยะส่งผลต่อการปฏิบัติใดบ้างในอนาคต นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นความชัดเจนถึงผู้กระทำผิดว่าเป็นบุคคลของพรรคการเมือง หรือเป็นตัวพรรคการเมืองเอง
เพราะคำว่าบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง อาจหมายถึงแค่คนๆเดียว ไม่ได้หมายถึงทุกคนที่เป็นบัญชีรายชื่อ หรือไม่ได้เป็นนโยบายของพรรคที่จะกระทำการทุจริต กมธ.วิสามัญฯจึงมีความเห็นว่าเพื่อความชัดเจนว่าใครผิดมาตรานี้จึงแยกระหว่างผู้สมัครเขต ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมือง ส่วนประเด็นการเปิดช่องเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น กฎหมายเลือกตั้งมีโทษในตัวของมันเอง ไม่ใช่โทษการยุบพรรค แต่เป็นโทษใบแดง ใบเหลือง และใบส้ม ฉะนั้นจึงไม่ร่วมเรื่องคดีทางการเมืองหรือการยุบพรรคแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 13 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 84 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น ที่ประชุมพิจารณาประเด็นออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีอื่น ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ.วิสามัญฯมีความเห็นเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการกำหนดเรื่องการออกเสียงด้วยวิธีการลงคะแนนด้วยวิธีการอื่นนอกจากการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง อาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ เช่น การลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์
ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าถ้ายืนตามร่างที่ไม่มีการแก้ไข คือร่างเก่าจะมีการเขียนว่าการลงคะแนนสามารถทำโดยวิธีบัตรหรือวิธีการอื่นๆก็ได้ ตามที่กกต.กำหนด แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้กำหนดไว้ว่าต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเท่านั้น จึงทำให้ติดขัดในการพัฒนาระบบการลงคะแนนด้วยวิธีอื่นๆ อยู่ที่ว่าถ้าเรายอมรับข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีแค่บัตรที่เป็นกระดาษเท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขอให้มีการตีความรัฐธรรมนูญว่าบัตรเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนไปเป็นวิธีอื่นได้กมธ.วิสามัญฯก็จะพิจารณาให้มีวิธีอื่นอยู่ในร่างของกฎหมาย
ส่วนฝ่ายที่สองเห็นว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการอื่นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติในการประชุมครั้งต่อไปทั้งนี้เมื่อถามว่าจะมีการยื่นญัตติในช่วงใด นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับระยะเวลาในการยื่นญัตตินั้นยังไม่ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันอยู่ ซึ่งจะต้องรอให้ร่างกฎหมายลูก และกฎหมายงบประมาณเข้าสู่สภาให้แล้วเสร็จก่อน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews