กมธ.ดีอีเอส เดินหน้าโรดแม็ป 6G ภายในปี 2030
กมธ.ดีอีเอส เดินหน้าโรดแม็ป 6G ภายในปี 2030 สอดรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC พร้อมเสริมศักยภาพโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล-พัฒนากิจการอวกาศ
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “Trends Toward Space and 6G Era : Challenges and Opportunities” ที่สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ เพื่อสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยี 6G มาปรับใช้ในการวางแผนการผลิต ส่งเสริม ควบคุม และกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรของชุมชนในเชิงเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยในปัจจุบันประเทศไทย ได้มีการพัฒนาศักยภาพโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ยานยนต์ไร้ขนขับ โดรน เป็นต้น ขณะที่ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในต่างประเทศมีการคิดค้นเทคโนโลยี 6G
ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นที่มีอยู่อย่างจำกัดผสานเข้ากับ AI เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มีเสถียรภาพอย่างไร้ขอบเขต ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันมีศักยภาพในการส่งเสริมเสถียรภาพเทคโนโลยีการสื่อสารให้สามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ในทุกพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงภาคอวกาศ ด้วยราคาต้นทุนโครงข่ายโทรคมนาคมที่ลดลงส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีในบริบทของสังคมโลกกำลังจะก้าวไปสู่การหลอมรวมเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งภาคพื้นดินและภาคอวกาศ เช่น ระบบดาวเทียมขนาดเล็กที่ช่วยส่งขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในต้นทุนที่ลดลง การทำ Cloud Computing ด้วยการใช้ดาวเทียมในภาคอวกาศที่ทำให้ประหยัดการใช้พลังงานในพื้นโลก เป็นต้น
ทั้งนี้ การหลอมรวมเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ากับเทคโนโลยีดาวเทียม ก่อให้เกิดการสื่อสารอย่างไร้ขอบเขตด้วยความเร็วที่มีค่าความหน่วงของสัญญาลดลง เกิดสังคมดิจิทัล การพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีขึ้น เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนอากาศยานที่เร็วขึ้นในราคาที่ลดลง การใช้ Drone สำหรับการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและใช้งานดาวเทียมของตนเอง
ทั้งนี้ การสื่อสารกำลังพลิกโฉมด้วยระบบ 6G และภายในปี 2030 จะเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างอวกาศ (ดาวเทียม) การบินโดรน เครื่องบิน และมือถือ ผมในฐานะประธานอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง พยายามผลักดันและนำเสนอเป็นโรดแม็ป (Roadmap) ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
เพื่อให้สามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ R&D และศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั่วไป และทำให้ไทยสามารถแข่งขันในโลกแห่งปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงกิจการอวกาศที่กำลังจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews