กต.โต้เสียงวิจารณ์ ยันนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนไทย ไม่ใช่ชวนต่อต้านจีน-รัสเซีย ตั้งนาโต้ 2 แค่ยกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวต่อกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเยือนไทยระหว่าง 1-2 พฤษภาคม 2565 ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นการชักจูงไทยเข้าร่วมต่อต้านจีนและรัสเซีย และการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรี
ว่าเป็นไปตามแนวคิด “NATO 2” ดังนี้
1.การยกระดับสถานะความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” สะท้อนความแน่นแฟ้นและความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
ซึ่งครบรอบ 135 ปีในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้นำไทยและญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันภายใน 5 ปี โดยส่งเสริมการลงทุน จากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ของไทย
2.ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรี ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และความสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อการจัดประชุมเอเปคของไทย
โดยไม่ได้มีการพูดถึงการต่อต้านจีนหรือรัสเซียหรือปูพื้นฐานให้ไทยเป็นสมาชิกของยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านจีนแต่ประการใด
3. การเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่าง 12-13 พฤษภาคมนี้ที่กรุงวอชิงตันมีวัตถุประสงค์ฉลอง 45 ปีความสัมพันธ์ อาเซียน-สหรัฐฯ
โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืน ของภูมิภาคหลังโควิด-19ทั้งนี้ ระหว่างการเยือนนายกรัฐมนตรีไทยจะพบภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อหารือส่งเสริมการลงทุนและการทำธุรกิจในไทยและพบชุมชนไทยในสหรัฐฯ ด้วย
4.ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล ส่งเสริมบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคมาโดยตลอด ซึ่งหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) ของอาเซียนที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
โดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น 40 ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งห้าประเทศด้วย
ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างไทยและญี่ปุ่น และความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ไทยมีกับประเทศอื่น ๆ นั้น เป็นความร่วมมือทวิภาคี ที่มีการหารือมาหลายปีแล้ว และญี่ปุ่นก็มีกับหลายประเทศในภูมิภาคแล้ว
ไม่ได้มีลักษณะเป็นความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาดังเช่นสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่อย่างใด
5.จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าวาทกรรมเรื่องการจัดตั้ง “NATO 2” เป็นเพียงการตีความตามจินตนาการของบางบุคคลโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews