นายกฯ เน้นย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมือสร้างอาเซียนสีเขียว
นายกฯเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสนับสนุนการสร้าง “อาเซียนสีเขียว” อย่างยั่งยืนและสมดุล
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และและผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ ได้แก่ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
โดยนายกฯ กล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนกับสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องร่วมกันทำให้สำเร็จเพื่อโลกใบนี้ และอนาคตของลูกหลานของทุกคน จึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การมีสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน
โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงถึงการสนับสนุนความมุ่งมั่นของภูมิภาค และของโลกในเรื่องดังกล่าว ไทยได้ประกาศเป้าหมายในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งจะพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังทั้งในระดับ ประเทศ ภูมิภาค และโลก เพื่อให้สามารถดำเนินการและบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยไทยยินดีที่ได้รับทราบเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องนี้ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอความร่วมมือใน 3 ประเด็นสำคัญ
1. การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. การสนับสนุนด้านการเงิน ให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสนับสนุนให้ภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน และประชาชนร่วมมือกันปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้
นอกจากนี้ นายกฯยังเน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ป่าไม้ การปลูกพืชมีค่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้วความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว การหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และความร่วมมือร่วมใจแบบไม่แบ่งฝักฝ่าย จะเป็นหลักประกันสำคัญถึงความอยู่รอดของโลกและคนรุ่นหลังต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews