“ไพบูลย์” มั่นใจกฏหมายลูก 2 ฉบับ ผ่านสภาแน่
“ไพบูลย์” มั่นใจกฏหมายลูก 2 ฉบับ ผ่านสภาแน่ ไม่กังวลเสียง ส.ว. คาดภายในสัปดาห์ที่ 2 เดือน มิ.ย. ก่อนส่ง กกต.พิจารณา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกล่าวว่า วันนี้จะเป็นการพิจารณาทบทวนรายงานของคณะกรรมาธิการ เพื่อลงมติรับรอง ก่อนจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบการประชุมในวันที่ 9 มิ.ย. และมั่นใจว่าในการพิจารณาวาระที่ 2 จะไม่มีปัญหาอะไร โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่กรรมาธิการเสนอ และคาดว่า ทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในวันที่ 10 มิ.ย. จากนั้น ก็สามารถลงมติในวาระที่ 3 ได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จ ก็จะต้องส่งให้ กกต. พิจารณาข้อกฎหมายเพียงหน่วยงานเดียว ว่า ร่างที่ได้แก้ไขขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต. มีเวลาพิจารณาภายใน 15 วัน ก่อนส่งกลับมาที่รัฐสภา และหากไม่มีประเด็นส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยคาดว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะสามารถประกาศใช้ได้ประมาณปลายเดือนกันยายน หรือช่วงต้นเดือนตุลาคม
ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ เชื่อว่า เสียงข้างมากในรัฐสภาจะเห็นชอบกับที่กรรมาธิการฯ แก้ไข ส่วนกระแสการคว่ำร่างกฎหมายนั้น เป็นเพียงการแสดงความเห็นของบางคนแต่ไม่มีความเป็นไปได้ในสถานการณ์ในบริบทใด
อย่างไรก็ตาม ในชั้นกรรมาธิการ ตัวแทนจาก ส.ว.ส่วนใหญ่โหวตเห็นด้วยกับการหาร 500 เมื่อกลับเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ส.ว.ทั้งหมด จะไปสนับสนุนการหาร 500 นั้น นายไพบูลย์ ระบุว่า จะรอต้องดู เพราะกรรมาธิการฝ่าย ส.ว. นั้น มี 14 คน โหวตลงมติเห็นด้วยกับการหาร 500 มี 9 คน โหวตเห็นด้วยกับการหาร 100 มี 2 คน งดออกเสียง 1 คน และไม่ได้อยู่ในห้องประชุม 2 คน
ดังนั้น เสียง ส.ว. ไม่ได้เป็นเอกภาพ และ ส.ว. ในรัฐสภาก็ถือเป็นเสียง 1 ใน 3 ของรัฐสภา แต่เสียงที่เห็นชอบส่วนใหญ่มาจากเสียงของ ส.ส.ซึ่งมีอยู่ 476 คน ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการลงมติ และทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ย้ำว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่หารด้วย 100 นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองใด ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการทำงานของนิติบัญญัติที่แก้ไขกฎหมายต้องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น และต้องเป็นการหารด้วย 100 เพราะ กกต.
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ยังยืนยันมาว่า หารด้วย 100 ซึ่งในการโหวตลงมติในกรรมาธิการผู้แทนจาก กกต. 2 คน ก็โหวตเห็นด้วยกับหาร 100 รวมถึงผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 คน ก็เห็นด้วย และนายไพบูลย์ ยังย้ำด้วยว่ารัฐบาลจะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง และจะสามารถอยู่จนครบวาระ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews