Home
|
ข่าว

ชัชชาติลงชุมชนแออัดทองหล่อจ่อขยายที่อยู่มั่นคง

Featured Image
ชัชชาติ พร้อมดร.ยุ้ย-ว่าที่ส.ก.เขตวัฒนา ลงชุมชนแออัดหลังสน.ทองหล่อ พบไม่ถูกกฎหมาย 3-4 แห่ง เตรียมขยับขยายหาที่อยู่อย่างมั่นคง ยกระดับการให้บริการสาธารณสุขชุมชน

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และว่าที่ ส.ก.เขตวัฒนา ลงพื้นที่ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา เพื่อสำรวจพื้นที่ชุมชนแออัด ที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องรวมถึงสำรวจคลองเป้ง ซึ่งอยู่ติดกับชุมชน พร้อมทั้งพบปะประชาชนที่มาฉีดวัคซีนในพื้นที่ โดยนายชัชชาติ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ที่ทองหล่อถือเป็นใจกลางเมือง แต่ชุมชนนี้ไม่เคยเห็น ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ซ่อนอยู่ 3-4แห่ง เช่นชุมชนหลังสถานีตำรวจทองหล่อ ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช มีประชากรรวมกัน 300-400 หลังคาเรือน

 

ซึ่งหลักๆ หลายชุมชนอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่มีโฉนด รุกล้ำที่สาธารณะ และกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่ขับเคลื่อนเมืองที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เอกมัย ทองหล่อ เช่น อาชีพ แม่บ้าน รปภ. อยู่ไกลจากงานไม่ได้ ทั้งนี้ จะต้องพยายามปรับให้คนในชุมชนไปอยู่ในที่ที่ถูกกฎหมาย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยเริ่มจากการออมในชุมชน จากนั้น จึงขยับขยายไปหาที่ถูกกฎหมาย และช่วงเปลี่ยนถ่ายที่หาที่ถูกกฎหมายให้คนในชุมชน ก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตด้วย

 

โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูพื้นที่ เพราะสาธารณสุขใน กทม. มีความซับซ้อน มีหลายระดับ แต่หน้าที่ กทม. คือ ขึ้นชั้นปฐมภูมิ เป็นด่านแรกที่มาเผชิญปัญหา โดยเป็นศูนย์สาธารณสุข ที่มีอยู่ 69 แห่งทั่ว กทม. แต่ศูนย์สาธารณสุข ก็อยู่ไกลชุมชน ดังนั้น แนวนโยบาย คือ จะต้องนำการให้บริการสาธารสุขลงมาในพื้นที่ชุมชนโดยคนในชุมชนไม่ต้องไปที่สาธารสุข แต่ปัญหาคือ บุคคลากรของ กทม. ไม่ได้มีจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีเครือข่ายร่วมกับคลีนิคชุมชนอบอุ่น แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่บ้าง

 

 

ทั้งนี้ มองว่า หากจะให้บริการที่ทั่วถึงจะต้องมี 3 แนวทาง คือ มีเครือข่ายชุมชนอบอุ่น โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชุน เพื่อมาดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การฉีดวัคซีนในชุมชน ตรวจโควิด และหลังจากนี้ตนจะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพราะเป็นเจ้าของเงินว่า จะเลิกจ่ายอย่างไรให้สะดวก และ กทม. จะทำหน้าที่ร่วมได้อย่างไร โดยให้สำนักอนามัยเข้าไปดูแลในเรื่องของคุณภาพ แนวทางที่สอง คือ ใช้เทคโนโลยีเทเลเมดิซีน มาเชื่อมต่อในการดูแลผู้ป่วย จากระบบทางไกล และแนวทางที่สาม คือ การขยายเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับพื้นที่ และจำนวนประชาการของ กทม. ซึ่งถือเป็น 3 แนวทางในการบริหารสาธารสุขของ กทม. ได้ รวมถึง เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ดูแลประชาชนใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการให้เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่ เพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลคนเมือง เช่น โรคซึมเศร้า โรคผู้สูงอายุ ออฟฟิศซินโดรมให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่มั่นใจระบบสาธารณสุขในด่านแรกของ กทม. จึงไปรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน

 

นอกจากนี้ ยังต้องดูด้านคุณภาพชีวิต ขยะ น้ำ ของคนในชุมชนด้วย อย่างคุณภาพน้ำ ก็ต้องดูแล โดยใช้วิธีการบำบัดน้ำเสีย และให้ชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งหลังจากนี้จะมีการไปหารือ ทั้งนี้ต้องร่วม กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนองค์การมหาชน หรือ พอช. และการเคหะแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ชาวชุมชนแออัด เกิดการออมเงินรวมตัวเป็นกลุ่มออมเงิน เพื่อจัดหาพื้นที่ จัดตั้งหมู่บ้านมั่นคง โดยจะเริ่มต้นจากพื้นที่ของของราชการ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจจะไม่ได้ใกล้ทองหล่อ แต่ก็ขยับออกไปไม่ไกลมาก แต่ยังไม่สามารถตอบได้ถึงเรื่องกรอบระยะเวลา เพราะต้องแล้วแต่สถานการณ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnew

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube