Home
|
ข่าว

“ปิยบุตร” ร่วมม.ขอนแก่นรณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น”

Featured Image
“ปิยบุตร” ร่วมเวที สภานักศึกษาม.ขอนแก่น รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ชี้ 3 ปมสำคัญ พลิกโฉมท้องถิ่น สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ตนเดินทางมาหลายจังหวัด ไม่ว่าที่ไหนปัญหาหนึ่งที่พบคือไม่มีขนส่งมวลชนสาธารณะ ประเทศไทยที่ว่ากันว่ามีความเด่นดังเรื่องท่องเที่ยว มีศิลปวัฒนธรรมน่าดึงดูดให้คนมาดู แต่ทำไมเวลาไปเที่ยวก็พบว่า ระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนแต่ละจังหวัดพึงมีกลับไม่มี และทำไมจึงเกิดขึ้นแค่กรุงเทพมหานครแห่งเดียว ภาคเอกชนที่ขอนแก่นมีความคิดผลักดันเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน นี่สะท้อนปัญหาเรื่องของการกระจายอำนาจ และแม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คิดจะทำเรื่องขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชน ก็ติดล็อกไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะขนส่งมวลชนหนึ่งเส้นไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบได้หน่วยเดียวจบ ต้องไปคุยกับ สำนักโยธาธิการผังเมืองจังหวัด คุยกับทางหลวงชนบท คุยกับมหาดไทย คมนาคม ฯลฯ มีอีกสารพัดหน่วยงานเป็นเจ้าภาพ

 

จนทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถตัดสินใจเด็ดขาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ปัญหาต่อมาก็คือไม่มีงบประมาณ เพราะขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต้องใช้เงินมาก อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็น อปท. รูปแบบหนึ่ง รถไฟฟ้าหลายสายที่เราเห็น แท้จริงแล้ว กทม. มีอำนาจดูแลอยู่สายเดียว คือ BTS ที่เหลือเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดกระทรวงคมนาคม และเงินที่ใช้สร้างสายอื่นๆก็เป็นงบประมาณส่วนกลาง ซึ่งแบบนี้ถามว่าเป็นธรรมต่อคนต่างจังหวัดที่เสียภาษีเช่นกันหรือไม่ ทำไมต้องสร้างที่ กทม. แล้วที่อื่นๆ ทำไมคนต่างจังหวัดต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทางเท่านั้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องการไม่กระจายอำนาจ เป็นเหตุผลที่เราทำรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

 

นายปิยบุตร ระบุว่า เวลาพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจ ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีปัญหาอยู่ใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ เรื่องท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะที่แท้จริง เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่โครงสร้างการปกครองของเราที่ผิดหลักสากล โดยเราให้กระทรวง กรม เป็นนิติบุคคล แทนที่จะให้ราชการส่วนกลางทั้งหมดเป็นนิติบุคคล แล้วกระทรวง กรม เป็นเพียงไส้ในเท่านั้น ซึ่งพอเป็นแบบนี้ทำให้มีปัญหาเรื่องความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เวลาจะย้ายโอนอะไรต่างๆ ไปสู่ท้องถิ่นก็ติดขัดไปหมด แต่ละหน่วยงานต่างถือกฎหมายคนละตัว มีอำนาจในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน มันจึงวุ่นวาย ท้องถิ่นจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด

 

ดังนั้น เราจึงปรับวิธีคิดใหม่ จากเดิมที่บอกว่าส่วนกลางทำได้ทุกเรื่อง เปลี่ยนให้ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่องในพื้นที่ตัวเอง แล้วส่วนกลางห้ามทำ ยกเว้นแค่บางเรื่อง เช่น การเงินการคลัง ความมั่นคง การต่างประเทศ ฯลฯ หรือเว้นแต่ถ้าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพ แล้วร้องขอมาให้ส่วนกลางช่วย นี่เป็นการคิดจากพื้นที่เป็นหลัก บริการสาธารณะท้องถิ่นต้องเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนกลางและภูมิภาคเข้ามาเสริมเมื่อท้องถิ่นทำไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นต้องตั้งอยู่บนหลักการกำกับดูแล ไม่ใช่ไปสั่งการหรือระงับยับยั้งโครงการที่ผู้บริหารท้องถิ่นคิดจัดทำขึ้น ซึ่งถ้าเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง กรณีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการที่ผู้บริหารท้องถิ่นจะทำอะไรต้องไปถามผู้ว่าราชการจังหวัดเสียทุกเรื่องว่าทำได้หรือไม่ รวมถึงแก้การที่ผู้ว่าฯ นายอำเภอมักจะมีจดหมายน้อยสั่งการให้ผู้บริหารทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube