ฝ่ายค้าน ยันไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขณะ ส.ส.รัฐบาล ชี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกระทบสิทธิชายหญิงทั่วประเทศ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ,ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ,ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายสนับสนุนให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล เพื่อให้สิทธิความเป็นธรรมกับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับหรือเลือกจะสมรสกับใคร โดยไม่นำเพศสภาพหรือเพศกำเนิดมาเกี่ยวข้อง และเห็นว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม. มีเนื้อหาและหลักการไม่ตรงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่สามารถนำมาแทนกันได้
ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มองว่า การแก้ไขนิยามเรื่องคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาไปกระทบกับกฎหมายอื่นๆอีกหลายฉบับ ซึ่งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ของครม.มีความคล้ายคลึงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในหลายประเด็น หากประเด็นใดที่เห็นไม่ตรงกัน สามารถไปแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้
ทั้งนี้ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม.ไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ จึงอยากให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.อีกครั้ง ร่างของพรรคก้าวไกลแก้แค่ 3 คำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ 1.การสมรสชาย-หญิง แก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคล-บุคคล 2.สามีภริยา เป็นคู่สมรส และ 3.บิดามารดา เป็นบุพการี ไม่มีความยุ่งยากอะไร อย่ามองแค่กฎหมายนี้เสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนหลายล้านคน จึงอยากให้รับหลักการเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ขอสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม.ทแทนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ที่ไปตัดคำว่าชาย-หญิง ออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกระทบสิทธิประชาชนที่เป็นชายหญิงทั่วประเทศ เมื่อเทียบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีต่างกันอยู่ 2 ข้อคือ การหมั้นกับการอุ้มบุญที่สามารถไปเพิ่มเติมเนื้อหาในชั้นกมธ.ได้ ถือเป็นทางออกดีที่สุดในการรักษาสิทธิทุกฝ่าย โดยไม่กระทบสังคมส่วนใหญ่ การออกกฎหมายใดๆเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ต้องไม่กระทบสิทธิคนกลุ่มอื่น หากร่างกฎหมายมีผลสัมฤทธิ์เหมือนกัน ต่างกันแค่ชื่อ วิธีบัญญัติกฎหมาย ก็น่าจะยอมกันได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews