นายกฯ ห่วงวิกฤตของแพง ขณะครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบช่วยประชาชนอีก 3 เดือน พร้อมลดภาษีนิติบุคคลกระตุ้นการท่องเที่ยวสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้ได้มีการพิจารณามาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ สถานการณ์วิกฤตด้านพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางประเทศผู้ผลิตก็ส่งออกเท่าที่จำเป็น ทำให้ห่วงโซ่การผลิตนั้นขาดแคลน ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวก็ชะงักลงในปัจจุบัน ยืนยันว่ารัฐบาลมีการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง และมีความกังวลใจ จึงได้สั่งการให้มีการประชุมหารือตลอดเวลาเพื่อศึกษาแนวทางที่เป็นประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชน และภาคธุรกิจเร่งด่วนทั้งมาตรการใหม่และการขยายมาตรการ เช่นการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15 บาท 59 สตางค์ ต่อกิโลกรัม ส่วน NGV ในโครงการ NGV ลมหายใจเดียวกัน สำหรับกลุ่มแท็กซี่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 13 บาท 62 สตางค์ต่อกิโลกรัมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิถุนายนถึง 15 กันยายน 2565 พร้อมกับกำหนดกรอบราคาขายปลีก ก๊าซ LPG 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่กรกฎาคมถึงกันยายน นอกจากนี้ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลด LPG ร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ออกไปอีก 3 เดือน ถึงเดือนกันยายน 2565 ขณะที่ผู้ที่มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อราย 3 เดือน
นอกจากนี้ มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในราคาขายที่สูงกว่าลิตรละ 35 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือนถึงกันยายน 2565 คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1 บาท 40 สตางค์ต่อลิตร นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดภาระราคาค่าน้ำมันให้กับประชาชน ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินในช่วง 3 เดือน กรกฎาคมถึงกันยายนไปก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ ตนก็ขอขอบคุณบรรดาสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ในเรื่องนี้
พร้อมยังมีมาตรการด้านภาษี สำหรับบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การจัดอบรมสัมมนาการจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้าภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศและห่วงโซ่อุปทานในการท่องเที่ยว รวมไปถึงสนับสนุนการจ้างงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 15 กรกฎาคมถึง 14 กันยายน 2565 โดยสามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ค่าสัมมนาค่าห้องพักค่าเดินทาง หรือส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเมืองหลักจะหักได้ 1.5 เท่า ส่วนเมืองรองจะหักได้ 2 เท่า ค่าเช่าพื้นที่ค่าเข้าร่วมงานเข้าออกร้านการจำหน่ายสินค้าต่างๆสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า
นอกจากนี้ รัฐบาลยังขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน ทั้งภาครัฐเอกชนและภาคขนส่ง ให้ได้มากที่สุด ขอให้ทุกหน่วยงานได้เร่งออกนโยบายที่เหมาะสมตามศักยภาพของตนเองทั้งการเปิดปิดไฟ การลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ใช้การประชุมออนไลน์ โดยภาครัฐได้มีกำหนดนโยบายให้ลดการใช้พลังงานกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของหน่วยงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ ในการที่จะช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ ตนคาดว่าสถานการณ์เรื่องนี้ คงจะไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ โดยจะได้มีการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ ตามสมมติฐาน ว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเป็นระยะเวลาเท่าใดทำอะไรได้บ้าง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องการพอกคุณของปัญหา ดูแลสมทบ และส่งผลกระทบต่อการเงินการคลังต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนเอาไว้ตรงนี้ ทั้งมิติด้านพลังงาน? และอาหาร ซึ่งในระยะยาว ล้วนมีผลกระทบทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวตนได้ให้แนวทางมาโดยตลอดและต่อเนื่อง
โดยรัฐบาล ยืนยันว่า จะพยายาม หาทางช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการบนพื้นฐานของวินัยทางการเงินการคลังที่มีความสมดุล ที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดภาระในอนาคตที่มากเกินไป ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย หลายอย่างเราก็ลดภาษี รายได้เราก็ลดลง เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบคำถามแทน ซึ่งตนได้ให้แนวคำต่อไปแล้ว เนื่องจากตนมีภารกิจ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews