Home
|
ข่าว

นายกฯ ถกบอร์ดคนร.เห็นชอบแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

Featured Image
นายกฯ ประชุมบอร์ด คนร.เห็นชอบแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มิ.ย.65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 2/2565 ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า การประชุมวันนี้เพื่อเป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติ คนร. ที่ผ่านมาในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ สถานการณ์การดำเนินงาน ของบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ

 

การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5 ปี โดยขอให้คณะกรรมการร่วมกันเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง สามารถจะดูแลประชาชน ประเทศชาติ ได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนงานรัฐวิสาหกิจ

 

ในส่วนของแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ว่า จะต้องเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลและทุกกระทรวง โดยขอให้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดสาระสำคัญให้ครอบคลุม อาทิ

 

การเน้นเรื่องวาระโลกร้อน การลดก๊าซ CO2 เศรษฐกิจ BCG เป็นต้น เพื่อให้เสริมการทำงานของกระทรวง กรม ต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้เกิดรายได้ ยกตัวอย่าง

 

โครงการ SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ ที่เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง สสว. และกระทรวงดีอีเอส เป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการจัดทำพัฒนาแผนรัฐวิสาหกิจ ที่ได้ Mapping บทบาทของรัฐวิสาหกิจกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติจะต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแปลงแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ สู่แผนวิสาหกิจของแต่ละองค์กร มีการสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐวิสาหกิจด้วยกันเอง ระหว่างธุรกิจเอกชน

 

ระหว่างรัฐวิสาหกิจกับชุมชน ที่จะทำให้การพัฒนาประเทศเกิดพลังมากยิ่งขึ้น ทั้งจะลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ลดการใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่ต่าง ๆ ที่มีอยู่

 

พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน รายครัวเรือนแบบพุ่งเป้าตาม TPMAP ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนดำเนินการตลอดปี 2565 ได้มีการลงรายละเอียดทุกพื้นที่ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหา 5 ประการคือ 1)

 

รายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ 2) คุณภาพชีวิต 3) การเข้าถึงการศึกษา 4) การเข้าถึงการสาธารณสุข มีสุขภาพที่ดี 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งได้มีการตรวจสอบและได้ข้อมูลแล้ว โดยจะใช้งบประมาณของภาครัฐลงไปทุกกระทรวง หาเป้าหมายให้เจอเพื่อให้การส่งเสริม

 

ซึ่งรัฐวิสาหกิจสามารถมีส่วนที่จะช่วยตรงนี้ โดยขอให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาปรับการใช้งบ CSR เพื่อนำมาช่วยเสริมการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ สำหรับมติที่ประชุม คนร. ที่สำคัญ คนร. เห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ)

 

ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

 

เพื่อเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน โดยแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มุ่งเน้นให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทและภารกิจขององค์กรที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ผ่านการลงทุน การจ้างงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการประชาชน ให้ตอบโจทย์จุดหมายหลักทั้ง 13 จุดหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในด้านต่าง ๆ

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณบอร์ด คนร. ทุกคนที่ช่วยกันคิดและทำเพื่อประเทศไทย เพื่อคนไทยทุกคน ยืนยันว่านายกฯ ไม่เป็นผู้ขัดแย้งกับใคร และทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อคนไทยทั้ง 70 ล้านคนโดยไม่แบ่งแยกพื้นที่ ไม่แบ่งแยกการเมือง ใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube