“ชัชชาติ” เข้าสภาหารือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จ่อคุยประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม 2 ก.ค.นี้ ปมค่าตั๋ว BTS ชี้ต้องหาจุดสมดุล
คณะกรรมการการคมนาคม โดยมีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือถึงวาระการพิจารณา แนวนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
โดยนายโสภณ กล่าวว่า การเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนี้ เผื่อช่วยกัน เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ท่ามกลางวิกฤตของโลกที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็อยากเห็นกรุงเทพฯได้พัฒนา สิ่งที่คณะกรรมการธิการต้องการทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ คือ ต้องการเอกซเรย์ปัญหาระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนากทม. และอยากให้ ฝ่ายนิติบัญญัติช่วยในเรื่องใด โดยจะตั้งคณะอนุกรรมมาธิการขึ้นมาศึกษาปัญหา มีตัวแทนจากกทม.มาศึกษาปัญหา และร่วมกันแก้ปัญหาทุกระบบง
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของกทม. ต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมถึงฝ่ายรัฐบาลด้วย หลายอย่างไม่ใช่อำนาจของกทม. เช่น กฎหมายต่างๆที่จะต้องปรับแก้ให้ทันสมัย และตอบโจทย์ประชาชนในกทม.ได้ พร้อมขอบคุณคณะกรรมาธิการคมนาคมที่ได้เชิญเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ การจราจร ทางเดินเท้า ไฟสองสว่าง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนกทม.
ส่วนปัญหาราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว ในวันที่ 2 ก.ค. จะมีการหารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม ซึ่งคาดว่าจะได้ ความคืบหน้าเรื่องราคาในสัปดาห์หน้า โดยปัญหาราคาขนาดนี้เป็นการพูดถึงคือ ภายหลังปี 2572 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการมองในระยะยาว ว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนการเก็บค่าโดยสารช่วงที่ 2 ในราคา 59 บาทนั้น เห็นควรว่า ควรจะเก็บค่าโดยสารเพราะขณะนี้วิ่งฟรีอยู่ นำมาเป็นค่าชดเชยการเดินรถ อย่างไรก็ตาม สังคมต้องการของถูก ซึ่งต้องหาจุดสมดุลเรื่องราคาให้ได้
ทั้งนี้ ราคารถไฟฟ้าไม่ใช่เฉพาะเพียง BTS เท่านั้นที่กทม.ให้ความสำคัญ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆก็จะอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และกทม.พร้อมน้อมรับความเห็นจากทุกหน่วยงาน เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ตัวเลข และข้อมูล หากโปร่งใส พูดความจริงก็ไม่มีปัญหา
นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีชายปีนรั้วเข้าไปในโรงเรียนหอวัง นายชัชชาติ ยอมรับว่า ตอนนี้เกิดเหตุนักเรียนโดนทำร้ายเยอะ เพราะเด็กส่วนใหญ่ขยับเวลาไปโรงเรียนเช้าขึ้นเพื่อหนีรถติด เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงไปดูแลแล้ว แต่เราก็ไม่ใช่ตำรวจ
ดังนั้น จึงต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการดูแลด้วย แต่โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แหล่ง เรามีเทศกิจค่อยเฝ้าระวังหน้าโรงเรียน ส่วนโรงเรียนนอกสังกัด กทม.คงต้องร่วมมือกับตำรวจ ร่วมมือกับโรงเรียน และหากเป็นจุดที่มีความเสี่ยง เช่น ไฟส่องสว่างไม่มี ต้นไม้บังทางหรือกล้องวงจรปิด ประสานมาได้ กทม.พร้อมเร่งดำเนินการให้
ส่วนที่เกิดเหตุในโรงเรียนหอวังถึง 2 ครั้งนั้น อาจเป็นจุดที่เป็นศูนย์กลางคมนาคม และมืด มีทางเดินยาว ซึ่งได้สั่งให้ทางกรุงเทพมหานครเข้าไปดำเนินการแล้ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews