“อนุทิน” แอสตร้าฯ ตกลงส่งแอนติบอดี้สำเร็จรูป แทนวัคซีนโควิด-19 บางส่วน เน้นรักษากลุ่ม 608 เพิ่มประสิทธิภาพดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง
บรรยากาศพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) เพื่อการป้องกันโควิด 19 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ลงนามจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ เพื่อเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรบางกลุ่มที่รับวัคซีนแล้ว ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือภูมิคุ้มกันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้วป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ อาทิ กลุ่ม 608 กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ทุกวัน ดังนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) มาใช้ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19
สำหรับการลงนามในครั้งนี้จะจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูป หรือ LAAB เข้ามาจำนวนกว่า 2.5 แสนโดส โดยไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดหาเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการลงนามขอปรับสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย)
เพื่อเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าบางส่วนมาเป็น LAAB ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งทำให้เรามีทั้งวัคซีนและแอนตีบอดีสำเร็จรูปมาดูแลประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ LAAB เป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีส่วนประกอบ 2 ชนิด คือ Tixagemab 150 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 150 มิลลิกรัม ผ่านการรับรองใช้แบบในภาวะฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นกันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565
มีข้อบ่งใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 6 เดือน มีประสิทธิผลร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโควิด และจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews