ปลัด กลาโหม ยันตระหนักถึงข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ ย้ำปรับลดทุกปี จัดลำดับความสำคัญ อาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแระจำปี 2566 ว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมีสัดส่วนลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 6.55% ปี 2565 6.51% ปี 2566 6.19%
หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563-2565 เฉลี่ย 1.22% และปี 2566 1.10% จากสถานการณ์โลกและปัจจุบันมีความผันผวน และเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้งโดยการใช้กำลังทหาร การใช้อาวุธที่เกิดจากนโยบายด้านยุทธศาสตร์
การแข่งขันขยายอำนาจของจีน สหรัฐฯ รัสเซียและประเทศพันธมิตร ที่นำไปสู่การขยายพื้นที่การสะสมอาวุธนโยบายต่างประเทศแบบเลือกข้างและใช้นโยบายเศรษฐกิจ และจากการสำรวจพบว่างบประมาณด้านกำลังทหารโลกเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น กระทรวงกลาโหมตระหนักข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ จัดลำดับความสำคัญ อาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กำลังพลสำรองและนโยบายมิตรประเทศ เสริมสร้างอำนาจทางทหาร จะเห็นว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2566
ไม่สูงเมื่อเทียบภารกิจ แม้ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่สร้างความมั่นคงด้านการลงทุน กองทัพมีแสนยานุภาพมีความเข้มแข็ง เพื่อใช้ต่อรองนโยบายการเมืองได้เช่นเดียวกัน
ด้าน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ข้อมูลความมั่นคงมีชั้นความลับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ภายนอกกับบุคลคลอื่น
ทั้งนี้ทุกประเทศต้องจัดกำลังทหารป้องกันประเทศ ปกป้องอธิปไตย รับมือภัยคุกคาม แม้ความมั่นคงที่ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็คือความอยู่รอดของประเทศ ส่งผลถึงเศรษฐกิจความเป็นอยู่ประชาชน การเสริมสร้างกำลังทหารเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 52 และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551
ทั้งนี้ กองทัพไทยประกอบไปด้วยเหล่าทัพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน สำหรับนโยบายจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเน้นการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานการซ่อมบำรุง และยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมใช้งบประมาณประหยัด คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศความเดือดร้อนของประชาชน
อีกทั้งการจัดหาเป็นไปตามขั้นตอนมีการจัดตั้งคณะกรรมการก่อนเสนอกระทรวงกลาโหมทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกระบวนการพิจารณากลั่นกรองเป็นไปอย่างรอบคอบเหมาะสม
ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์คิดเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 500,000 ล้านบาท การจัดหาทดแทนในส่วนที่จำเป็น และซ่อมบำรุงคิดเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 2%
เพื่อดูแลรักษาให้คงสภาพรวมถึงงบประมาณด้านการฝึกกำลังพล รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังทดแทน เมื่อมีการปรับย้ายการฝึกร่วมกับมิตรประเทศ ทั้งนี้ หากกองทัพไทยเข้มแข็ง ก็สามารถรองรับภารกิจต่างๆ เช่น โควิด สถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติต่างๆ กองทัพมีความสมบูรณ์ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น เพราะมีหน่วยทหารอยู่ทั่วประเทศเข้าถึงพื้นที่รวดเร็ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews