Home
|
ข่าว

รัฐบาลโต้ฝ่ายค้านปมหนี้ กยศ.วอนอย่ามั่วกล่าวหาไม่ดูแล

Featured Image
รัฐบาลโต้ฝ่ายค้าน ปมหนี้ กยศ. ลดหย่อนหนี้แล้วกว่าสองล้านราย วอนอย่ามั่ว กล่าวหาไม่ดูแล

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่มีพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สนใจการแก้ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความจริงอย่างที่สุด ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งให้การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.อย่างเต็มที่ ครอบคลุมการลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี แก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านการการดำเนินการสามเรื่องหลัก

 

 

ได้แก่ กองทุนฯ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดงานไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มที่ค้างชำระหนี้ที่ถูกบอกเลิกสัญญาและกำลังจะถูกฟ้อง และกลุ่มที่จะถูกบังคับคดี หากผู้กู้ยืมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย กองทุนฯจะไม่ดำเนินคดี และนอกจากนั้น ผู้กู้ยืมจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ รวมทั้งได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี เพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการชำระหนี้ให้เป็นปกติ และขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระเงินคืน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 65 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 65 โดยมีเงื่อนไขมาตรการ ดังนี้

 

 

1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% ต่อปี เป็น 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
2. ลดเงินต้น 5% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
3. ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี โดยผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา และผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ www.studentloan.or.th โดยผู้กู้ยืมเงินต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี

4. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี เมื่อชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)
5. ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ข้อมูลระหว่างเดือน ม.ค. 64 – พ.ค. 65) มีผู้ที่ได้รับสิทธิลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% จำนวน 6.4 แสนราย มีผู้ที่ใช้สิทธิมาตรการลดเงินต้น 5% จำนวน 2.6 หมื่นราย คิดเป็นส่วนลดเงินต้นกว่า 67 ล้านบาท มีผู้ที่ใช้สิทธิมาตรการลดเบี้ยปรับ 100% จำนวน 7.5 หมื่นราย คิดเป็นส่วนลดเงินเพิ่มกว่า 1,324 ล้านบาท มีผู้ที่ใช้สิทธิมาตรการลดเบี้ยปรับ 80% จำนวน 4 แสนราย คิดเป็นส่วนลดเงินเพิ่มกว่า 16 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับสิทธิลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จำนวน 1.2 ล้านราย

 

 

ซึ่งครม.เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งรัฐบาลได้เสนอให้กองทุนฯมีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ รวมถึงเสนอการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม

 

 

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้กยศ. และสั่งการให้เป็นเรื่องเร่งด่วน มาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วสามารถช่วยเหลือลูกหนี้และลดผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันได้จริง ทั้งนี้ จากมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์นับตั้งแต่ ม.ค. 64 รวม 2.34 ล้านราย และยังมีลูกหนี้ที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดีจากการเข้าสู่กระบวนการไกล่หนี้อีกจำนวนมาก ขณะที่การเสนอร่างกฎหมายกองทุนฯ เป้าหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ จะช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อน อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกันมากขึ้นด้วย จึงอยากขอให้สภาฯผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในเร็ววัน

 

 

“ขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ประชาชนทราบข้อมูลจริง ถึงมาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ เพื่อผู้กู้จะได้คลายกังวลและหาทางออกจากปัญหาหนี้ร่วมกับ กยศ. ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานะและยอดชำระได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th”

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube