Home
|
ข่าว

ทส.วาง5มาตรการป้องกัน-ควบคุมน้ำเสียคลองบางแพรก

Featured Image
ทส.วาง 5 มาตรการป้องกัน-ควบคุมน้ำเสีย  “คลองบางแพรก” เมืองนนท์ ที่สภาพ “เสื่อมโทรมมาก”

 

จากกรณีที่มีประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณคลองบางแพรก (ข้างกรมราชทัณฑ์) ต.บางไผ่ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียจากคลองบางแพรก ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ถึง นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งได้ทำหนังสือประสานไปยัง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และควบคุมคุณภาพน้ำที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน มี.ค.65 นั้น มีรายงานข่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ได้มีหนังสือถึง นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เรื่อง ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียออกมาจากคลองบางแพรก (ข้างกรมราชทัณฑ์) ลงแม่น้ำเจ้าพระยา

 

โดยสาระสำคัญระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้รับเรื่องร้องเรียนการปล่อยน้ำเสีย ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.นนทบุรี และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี เมื่อวันที่ 13 มี.ค.65

 

พบว่า จุดปล่อยน้ำเสียดังกล่าว เป็นสถานีสูบน้ำคลองบางแพรก(กรมราชทัณฑ์) รับผิดชอบโดยสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี ในช่วงนั้น เจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ แจ้งว่า บานประตูระบายน้ำของสถานีฯ ที่เปิดเพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแบบยกขึ้นลงชำรุด

 

ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.65 ระหว่างการซ่อมแซม จึงใช้วิธีสูบน้ำออกจากคลองบางแพรก (กรมราชทัณฑ์) วันละ 2-4 ครั้ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อระดับน้ำในบ้าน ห้องน้ำ ห้องสุขาของประชาชนที่อยู่ติดริมคลอง มีฟองสีขาวเกิดขึ้นในช่วงที่เปิดเครื่องสูบน้ำ สภาพน้ำในคลองบางแพรกเป็นน้ำเสียจากชุมชนมีสีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็น

 

ก่อนที่การดำเนินการซ่อมแซมประตูระบายน้ำจะเสร็จเรียบร้อยในภายหลัง หนังสือแจ้งอีกว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พ.ศ.? 2562-2570

 

เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำเสียให้สอดคล้องกับสถานการณ์คุณภาพน้ำและใช้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการร่วมกันในการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาภายใต้ แผนแม่บทด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.256–2580) และได้จัดส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำสำหรับใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561

 

โดยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา 5 มาตรการ คือ 1.การป้องกัน ควบคุม กำกับ ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย 2.การลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ 3.การติดตามตรวจสอบและการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ และ5.การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน

 

“ต้องเร่งผลักดันการจัดให้มีระบบรวบรวมน้ำเสียในบริเวณชุมชน ที่อยู่ใกล้เคียงคลองบางแพรกเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครนนทบุรี และมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือคลองสาธารณะ

 

พร้อมส่งเสริมให้บ้านเรือน อาคารทุกประเภท สถานประกอบการ ที่อยู่ริมน้ำต้องมีการติดตั้งถังดักไขมันและหรือระบบบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด เพื่อลดการระบายน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษของตนเองก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

 

โดยกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดต่อไป”

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube