Home
|
ข่าว

สภาฯถกญัตติส่งศาลตีความแก้ รธน.

Featured Image
รัฐสภาถกเข้ม ญัตติ ไพบูลย์ ขอให้ ศาล รธน. วินิจฉัย การแก้ไข รธน. ขัด รธน.หรือไม่ “ชวลิต”  ซัดรัฐบาลพยายามขัดขวาง เพื่อประโยชน์ ตัวเอง

การประชุมร่วมรัฐสภา วันนี้มีวาระสำคัญในการพิจารณาญัตติด่วน ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชายแสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญให้ดำเนินการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดเวลาให้ สมาชิกได้อภิปราย เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เริ่มต้นจากการชี้แจงญัตติโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ให้เหตุผลว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการฯ พิจารณาก่อนรับหลักการวาระแรก พบปัญหาข้อกฎหมายว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2560 ไม่มีมาตราใดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ มีเพียงแค่ให้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราเท่านั้น ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่กำหนดไว้ชัดเจน

อีกทั้งประเด็นนี้ ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและอาจส่งผลต่อการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ได้ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่อาจจะไม่ให้ความเห็นชอบหากไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการทำประชามติ เพราะหากยื่นหลังจากทำประชามติและเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญขึ้นจริงๆจะทำให้การทำประชามติที่ต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทนั้นเสียเปล่า ประกอบกับสำนักงานกฤษฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย เพื่อให้ได้ข้อยุติ จึงขอให้สมาชิกลงมติส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยด่วนด้วย

 

“ชวลิต” เพื่อไทย ซัด รัฐบาลพยายามขัดขวางการแก้ รธน. เพื่อประโยชน์ ตัวเอง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่

เพราะแม้นายกรัฐมนตรี จะพูดสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ย้อนแย้งอย่างไม่คาดคิดถึง 2 ครั้งติดต่อกัน เห็นได้จากการ พิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก กลับมีการเสนอญัตติขอตั้งกรรมาธิการขึ้นมาใช้เวลาตรวจสอบญัตติก่อนรับหลักการอยู่ยะยะหนึ่งมาแล้ว ทั้งที่เป็นญัตติที่เสนอจากฝ่ายรัฐบาลเอง แต่กลับมาขอตรวจสอบร่างกฎหมายกันเอง

อีกเรื่องที่ย้อนแย้งแปลกประหลาดมาก คือการที่ ส.ส. รัฐบาลลงนามเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง แต่กลับมาขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนเองลงนามเสนอมาเองนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความพยายามขัดขวางให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล้าช้า เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือไม่ โดยไม่สนใจประเทศชาติและประชาชน

ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจเพียงการแก้ไขรายมาตรานั้น ส่วนยืนยันว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขณะนี้ เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการใน ในมาตรา 256 ถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

 

“ชินวรณ์”อภิปรายค้านยื่นตีความ ยันแก้ รธน.ตั้ง ส.ส.ร. ชอบด้วยกฏหมายอ้างคำวินิจฉัยปี 55 ไม่ได้

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ และการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการได้มีศึกษาอย่างรอบด้านว่า การ ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนที่อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานเมื่อปี2555 แล้วนั้น ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการศึกษาคำวินิจฉัยแล้วพบว่าคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยไปตามบริบทของรัฐธรรมนูญปี 2550 และสภาพทางการเมืองขณะนั้น มีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย

อีกทั้งกระบวนการแก้ไขยังมิชอบเพราะมีปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2560 และการแก้ไขครั้งนี้ ดำเนินการเพียง 2 หลักการเท่านั้น ได้แก่การแก้เงื่อนไข ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และหลักการที่ 2 คือการให้ มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ขึ้นมาร่ารัฐธรรมนูญ โดยไม่ไปแตะต้อง เนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2

 

“พิธา”อัด”ญัตติไพบูลย์”พยายามขยายอำนาจของตุลาการจนล้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกรัฐสภา อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาได้ก็ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงแต่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าเกิดปัญหาก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนถือว่าเป็นการพยายามขยายอำนาจของตุลาการจนล้นเกิน ทำให้ตุลาการมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ ขณะเดียวกัน ขอให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติยอมรับในโลกาภิวัตน์ใช้เอกสิทธิ์ที่มีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยการทำให้การแก้ไขรัฐธรรมเป็นเรื่องปกติและสามารถดำเนินการได้ในอำนาจรัฐสภา

ด้านนายนิกร จำนง สมาชิกรัฐสภา คัดค้านญัตติดังกล่าวเนื่องจาก รัฐสภาต้องรักษาอำนาจนิติบัญญัติให้ดีเพื่อเป็นหลักในการคานอำนาจ หากรักษาไว้ไม่ได้จะสูญเสียกลไกของระบบประชาธิปไตยอาจจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบประชาธิปไตย อีกทั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ไม่ใช่เพื่อบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด รวมถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่รัฐสภากระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 256 เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube