นายกฯ ชมนักวิจัยไทยคิดค้นเครื่องตรวจโควิดจากลมหายใจ
นายกรัฐมนตรีชื่นชมนักวิจัยไทย คิดค้นเครื่องตรวจโควิดจากลมหายใจ แม่นยำ ไม่เจ็บตัว ค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสำเร็จของนักวิจัยคนไทยที่คิดค้น “การพัฒนาระบบต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบไม่เจ็บตัว” โดยการวิเคราะห์โปรไฟล์จากลมหายใจ ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการความเชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน สนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
น.ส.รัชดากล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความสำคัญ และยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน หากไม่มีมาตรการหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกในการควบคุมเชื้อโรคได้ดี อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้อีกในอนาคต รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนวิจัยนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์รูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19
ซึ่งการคิดค้นต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบไม่เจ็บตัว โดยการวิเคราะห์โปรไฟล์จากลมหายใจ ถือเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยฯ ที่ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องแยงจมูก ไม่ต้องเจาะเลือด และไม่ต้องใช้น้ำลาย วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่มีความไว(Sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ทำให้สามารถทำการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาฯครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าจมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือก๊าซเซ็นเซอร์ มาตรวจวัดสารระเหยอินทรีย์ หรือกลิ่นที่เป็นสารไบโอมาร์กเกอร์จากลมหายใจ ซึ่งทีมวิจัยมีฐานข้อมูลที่สามารถจดจำและจำแนกกลิ่นที่แตกต่าง ระหว่างคนที่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้ามาใช้ในการประมวลผลทำให้สามารถวิเคราะห์และตรวจคัดกรองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันมีความแม่นยำประมาณ 97% จากฐานข้อมูลของทีมวิจัยที่มีอยู่ประมาณ 3 พันตัวอย่าง
ถือเป็นความสำเร็จ ที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นผลจากความสามารถของนักวิจัยคนไทยและคณะที่ร่วมมือกันคิดค้น พัฒนาจนผลงานวิจัยประสบความสำเร็จ ช่วยประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขให้กับประเทศชาติได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ และผลงานนี้จะนำมาจัดแสดงภายในงานประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยและให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews