มติสภาเสียงข้างมากเห็นชอบก.ม.ป้องกันทำผิดซ้ำฯ
มติสภาฯ เสียงข้างมาก เห็นชอบกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำฯ ด้าน “พัชรินทร์” ขอบคุณสภาฯ ย้ำ มาตรการ “ฉีดไข่ฝ่อ” เป็นแค่ 1 ใน 13 มาตรการเท่านั้น
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ลงมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือ ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาชั้นของวุฒิสภา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วทั้ง 2 ฉบับ
ขณะเดียวกัน นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต2 และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอร่างกฏหมายป้องกันกระทำผิดซ้ำฯ ควบคู่กับกระทรวงยุติธรรมกล่าวขอบคุณสภาฯ ที่ร่วมกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะได้บังคับใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในมิติของความปลอดภัยที่กฎหมายนี้ จะเป็นกลไกสร้างความเชื่อมั่นในชีวิต ของประชาชนทุกกลุ่มในสังคม รวมทั้งพัฒนาระบบการบำบัดฟื้นฟู ของกลุ่มนักโทษที่มีความรุนแรง
โดยก่อนหน้านี้ นางสาวพัชรินทร์ ได้อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมายดังกล่าว มีขึ้นเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ส่งเสริมการแก้ไขาฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ ที่มีความรุนแรงใน 3 ความผิด 1)ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราและอนาจาร 2)ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกายจนอันตรายสาหัส3)ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น การเรียกค่าไถ่ โดยที่ผ่านมาการกระทำความผิดซ้ำประเทศไทย ยังไม่มีกลไกที่จะป้องกัน และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาต่อการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้
สำหรับการแก้ไขของวุฒิสภาทั้ง 12 มาตรา เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ ในมาตราที่ 21 มาตรการทางการแพทย์ ในประเด็นฉีดไข่ฝ่อ ที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ซึ่งยังมีอีกหลายมาตรการนอกเหนือจากมาตรการทางการแพทย์ เช่น การเฝ้าระวังไม่เกิน 10 ปี การติดกำไร EM มาตรการคุมขังหลังพ้นโทษไม่เกิน 3 ปี หรือ การคุมขังไม่เกิน 7 วัน
ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะมีคณะกรรมการพิจารณาว่า จะต้องบำบัดฟื้นฟูอย่างไร รวมถึงหลังการปล่อยตัวว่าจะเข้ามาตรการใด พร้อมยืนยันว่า มาตรการทางการแพทย์ เป็นเพียง 1 ใน 13 มาตรการที่จะนำมาป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งในกฎหมายมาตราที่ 21 เป็นเรื่องการใช้มาตรการทางการแพทย์ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน โดยวุฒิสภาได้เพิ่มข้อความว่าจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชและสาขาอายุรศาสตร์ อย่างน้อยสาขาละ 1 คน หากมีความเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยา หรือโดยวิธีการรูป แบบอื่นให้กระทำได้เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews