“ชลน่าน” ยันเพื่อไทยไม่มีพรรคจับมือก่อนเลือกตั้ง ย้ำต้องแก้รธน.ให้ได้
“ชลน่าน” ยันเพื่อไทยไม่มีพรรคจับมือก่อนเลือกตั้ง ย้ำไม่ร่วมงานกับพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ว่า ยังเร็วไปนิดหนึ่ง แต่เวทีวันนี้ชัดเจนเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่า พรรคเพื่อไทย ไม่มีเรื่องพรรคพี่พรรคน้อง ไม่มีเรื่องพรรคจับมือก่อนการเลือกตั้ง
ส่วนพรรคใดแอบอ้างว่าเป็นพรรคพี่พรรคน้อง หาเสียงจนพี่น้องประชาชนสับสน ทั้งในภาคเหนือก็ดี ภาคอีสานก็ดี เราก็ประกาศชัดแล้วว่าเพื่อไทยไม่มีอย่างนั้น เราบอกพี่น้องว่าเราคือเพื่อไทยเท่านั้น ต้องเลือกให้ชนะเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งในพื้นที่ก็มีหลายพรรคพูดเช่นนั้น ใครมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็เข้าข่าย
สำหรับหลังเลือกตั้งจะร่วมงานกับพรรคใดบ้างนั้น มองว่าแนวทางสิ่งที่พูดก่อนการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขในการร่วมงานทางการเมืองกัน กรณีการแอบอ้างเพื่อคะแนนเสียงก็มองว่าอาจยังพอคุยกันได้ ไม่ร้ายแรงเท่าการสนับสนุนเผด็จการ เสมือนเป็นนั่งร้านระบอบประยุทธ์ แต่ก็ต้องดูในเนื้องานสาระสำคัญเพราะบางพรรคก็อาจรณรงค์จนทำลายกัน หรือถึงขั้นเปิดช่องยุบพรรคเพื่อไทย เช่นนั้นก็อันตราย
พร้อมกันนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวถึง โอกาสร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ว่า ตามหลักการคือขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและพฤติการณ์ของพรรค หากผ่านการเลือกตั้งมา พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจเขา และมีวิธีการและอุดมการณ์ทำงานร่วมกันได้ ก็จะมาพิจารณา แต่ถ้าสนับสนุนเผด็จการก็อาจเป็นเงื่อนไขที่ไม่เข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง กระแสการปิดสวิตช์ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นผลประโยชน์ในการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น ถ้ามองว่า ส.ว. เป็นปัญหาระบบการเมืองไทย จนแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลใช้เงื่อนไขนี้ ก็เป็นปัญหาจริง ส่วนจะได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ มองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักประเด็นเดียวในการหาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ย้ำว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่รัฐสภาเพิ่งมีมติไม่รับร่างไปนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตกแบบไม่เห็นฝุ่น เสียง ส.ว. ก็ไม่ถึงเกณฑ์ สมัยประชุมหน้า เราคงไม่คิดแก้แล้ว เพราะฟังจาก ส.ว. พูดที่ผ่านมา เราคงไม่เสนออีก แต่จะผลักดันใส่เป็นนโยบายให้เป็นฉันทามติของพรรคเพื่อไทยด้วยเสียงของพี่น้องประชาชน
ส่วนสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุมสภาฯ ก็มีวาระงานที่ค้างอยู่คือกฎหมายที่จะต้องเร่งรัดอย่างน้อย 2 ฉบับที่สำคัญ แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ซึ่งฝ่ายค้านฯ ต้องดูอย่างระมัดระวังว่า ที่กรรมาธิการ(กมธ.)ปรับแก้จะตอบโจทย์กับประเทศหรือเปล่า การใช้กัญชาในทางการแพทย์ ฝ่ายค้านฯ เราสนับสนุน ดังนั้น กฎหมายที่เขียนออกมาต้องทำเพื่อการแพทย์จริง ไม่เปิดทางทำอย่างอื่น เราต้องการรอบคอบพอสมควร
โดยในส่วนของฝ่ายค้านฯ คือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ และร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งผ่านการแก้ไขโดยวุฒิสภาแล้ว ถ้าผู้แทนไม่มีประเด็น ถือว่าสภาฯ เห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไข สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ก็เป็นกฎหมายได้รวมทั้ง 2 ฉบับ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews