Home
|
ข่าว

รบ.เน้นนโยบายการคลังกระตุ้นศก.ก่อหนี้ยึดกม.

Featured Image
รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง

 

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า แผนดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย

 

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่ การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่าง ๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง)

 

2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

 

3. แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 และนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสามารถดำเนินการตามแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้ทันตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรอบการจัดทำแผนฯ

 

โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นวงกว้าง โดยแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่กล่าวมา

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 และขอย้ำว่าการจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ. 2561

 

โดยภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังคาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ร้อยละ 70

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube