“ประวิตร” ถกกนป.ดันส่งออกน้ำมันปาล์ม-ประกันรายได้
พล.อ.ประวิตร ประชุมกนป. ดันส่งออกน้ำมันปาล์ม ประกันรายได้เกษตรกร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตร
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศและตลาดโลก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของอินโดนีเซียที่ได้มีการประกาศยกเลิกภาษีส่งออก
สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งหมด แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งในทวีปอเมริกาทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดต่างๆ รวมถึงน้ำมันปาล์มยังทรงตัว ไม่ปรับลดลงมากนัก สำหรับสถานการณ์ ความต้องการใช้น้ำมันดิบในประเทศ คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคบริโภคและอุตสาหกรรม จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.09 ล้านตันต่อเดือน เนื่องจากภาวะการค้า และการบริโภคยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ภาคพลังงานปรับเพิ่มขึ้น
หลังจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เห็นชอบ การกำหนดเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก บี5 เป็น บี7 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการเปิดตลาดน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม คราวละ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) และขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามโครงการผลักดัน
การส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 เป้าหมาย 150,000 ตัน โดยขยายระยะเวลาส่งออกเป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 และขยายระยะเวลาโครงการให้สิ้นสุด เดือนมีนาคม 2566 ยิ่งไปกว่านั้น ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565 – 2566 โดยให้เริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ งวดที่ 1 ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่เดือนกันยายน 2565
เพื่อให้มีความต่อเนื่องจากโครงการฯ ปี 2564 – 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติแทนที่ชุดเดิมซึ่งหมดวาระในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน และผู้ประกอบการสวนปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกร จำนวน 3 ท่าน
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เปิดเผยว่า รองนายกประวิตร ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้คำนึงถึงเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ไม่ให้ได้ผลกระทบ หรือ ได้ผลกระทบน้อยที่สุด จากการดำเนินการของรัฐบาล
โดยเน้นมาตรการระยะยาวแปรรูป และเพิ่มมูลค่าให้ปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งยังได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 8 ชนิด ส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (SAF) ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีภาคเอกชนหลายรายเริ่มลงทุนแล้ว ต้องยอมรับว่า ผลงานการบริหารราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้นเป็นที่ประจักษ์ภายใต้การดูแลของพล.อ.ประวิตร ทำให้ชาวเกษตรกร สวนปาล์มชื่นชมถึงความทุ่มเทในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ให้ “กินดีอยู่ดี” อย่างยั่งยืน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews