ครม.ตั้ง”ปิยะพันธ์”นั่งเลขาฯปปง. -“สุภัทรา”ผู้ทรงคุณวุฒิอย.
ครม.มติแต่งตั้ง “พล.ต.ต.ปิยะพันธ์” นั่งเลขาฯคกก.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน , “สุภัทรา”นั่งผู้ทรงคุณวุฒิ อย. , “ปิ่นสักก์” นั่งโฆษก ทส.
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแต่งตั้ง พล.ต.ต. ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง และส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามมาตรา 57 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.63 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ครม.มติแต่งตั้ง “ปิ่นสักก์” นั่งโฆษก ทส. เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ครม.เห็นชอบร่างประกาศสำหรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และให้กต.จัดทำและนำส่งประกาศดังกล่าวต่อเลขาธิการสหประชาชาติ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศสำหรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และให้กระทรวงการต่างประเทศโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จัดทำและนำส่งประกาศดังกล่าวต่อเลขาธิการสหประชาชาติ โดยหากมีการแก้ไขร่างประกาศในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากครม.อีก สำหรับร่างประกาศสำหรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว เป็นพันธกรณีที่ไทยต้องดำเนินการตามที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย.60 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกที่ได้ลงนามและให้สัตยาบัน และฮอนดูรัสเป็นรัฐผู้ให้สัตยาบัน
ลำดับที่ 50 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.63 ส่งผลให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ม.ค.64 ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งเสนอร่างประกาศฯเพื่อให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งกำหนดให้ไทยต้องนำส่งประกาศต่อเลขาธิการสหประชาชาติภายใน 30 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.พ.64
สาระสำคัญของร่างประกาศฯ คือ การแจ้งว่า ไทยไม่เคยเป็นเจ้าของและไม่เป็นเจ้าของครอบครอง หรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์หรือระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ รวมถึงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ หรือระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆในอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย
ครม.มติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพลังสิบ เป็นเวลา 10 ปีพร้อมอนุมัติงบฯรายจ่ายของโครงการ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพลังสิบเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2573 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการพลังสิบเป็นจำนวน 9,619.88 ล้านบาทเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่นำไปสู่การสร้างและพัฒนาบุคคลให้เป็นกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ปรับแผนค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปี2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการด้านบุคลากรและการพัฒนาโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ
สำหรับโครงการพลังสิบนั้น เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน
ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการให้มีคุณภาพ และมีศักยภาพเป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 200 โรงเรียนแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 100 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 100 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่ายอีกจำนวน 2,000 โรงเรียนโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 2,200 โรงเรียน และพัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10,000 คนต่อปี พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างเต็มศักยภาพมากกว่า 100,000 คนต่อปี
ครม.รับทราบผลพิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ครม. รับทราบผลการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และกำหนดเป็นวาระที่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอแนะของกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยมีข้อสรุปดังนี้ คือ เห็นควรให้มีการสร้างเจตคติและการระมัดระวังตนเอง เพื่อป้องกันการกระทำความผิดจากพฤติกรรมที่มีลักษณะของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ
ให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ หรือ กพยช. พัฒนาแนวทางปฏิบัติสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายให้เป็นแนวทางเดียวกัน,ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดศ. รับไปพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการบูรณาการการส่งต่อเรื่องร้องทุกข์และการรับแจ้งเหตุโดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์, ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยละเอียดอย่างเร่งด่วน มาตรการการดำเนินการทางวินัยแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ล่วงละเมิดทางเพศแก่นักเรียน และเห็นควรให้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวด้วย, ศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ประเด็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศไม่ควรมีอายุความ
และการกำหนดค่าเสียหายในลักษณะที่เป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษและการนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับข่าวการข่มขืน เห็นควรให้มีการศึกษาเพิ่มเติมประเด็นการนำเสนอ “สื่อข่าว” หรือ “สื่อบันเทิง” ในรูปแบบต่างๆ เพื่อจัดทำคู่มือมาตรฐานและแนวทางที่เหมาะสมของสื่อมวลชน
ครม.อนุมัติกำหนดจำนวนการจ้างงานคนพิการ ของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบุว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปซึ่งไม่นับรวมลูกจ้างคนพิการที่มีอยู่เดิม ต้องรับคนพิการเข้าทำงานไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใด จำนวน 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน ถ้าเศษของ 100 คนนั้นเกิน 50 คน จะต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน
หากผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ได้ ก็จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามเงื่อนไขที่กำหนดและต้องดำเนินการภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงครั้งนี้ เป็นการขยายระยะเวลาการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯจากเดิมภายใน 45 วัน เป็น ภายใน 90 วัน และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 64 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news